"พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์" อัดงบประมาณกระทรวงกลาโหม ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ และไม่โปร่งใส ดูเหมือนงบฯ ลด แต่ไปใช้จ่ายเพิ่มเรื่องบุคลากร หวั่นเปลี่ยนรุ่นจัดซื้อเรือดำน้ำ 9.9 พันล้าน จะกลายเป็นค่าโง่

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 2 มิ.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายเรื่องงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่ลดลง 2.71% ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่พอดูรายละเอียด พบว่า ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ และไม่โปร่งใส เพราะงบบุคลากรเพิ่มขึ้น ทั้ง เงินเดือน สวัสดิการ และยังพบว่ากองทัพมีบุคลากรมากเกินไป ทั้งค่าตอบแทนและเบี้ยเลี้ยงทหาร รวมกันแล้วสูงถึง 19,000 ล้านบาท โดยขออธิบายง่ายๆ ว่าให้งบไป 100 บาท 77 บาทเป็นค่าบุคลากร และเหลือ 23 บาท นำไปพัฒนา

นายพิจารณ์ ยังกล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2564-2566 กระทรวงกลาโหม ลดงบจัดซื้ออาวุธไปแล้ว 7,655 ล้านบาท เมื่อมองถือว่าเป็นเรื่องดี ขณะที่ปีนี้ มีการจัดซื้ออาวุธ 10,692 ล้านบาท แม้จะลดลง แต่พอดูในเนื้อหากลับเหมือนดาวน์น้อยและผ่อนนานๆ และยังไม่ทราบว่าจะนำงบประมาณไปซื้อของมือสองหรือไม่ พร้อมชี้แจงว่าการซื้ออาวุธต้องเปรียบเทียบให้ดี ว่าจะซื้อรุ่นใด และซื้อจากประเทศไหน เพื่อดูเรื่องผลประโยชน์ว่าใครให้มากกว่ากัน เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือเอื้อต่อการลงทุนในประเทศ ตนเองจึงมองว่าไม่ควรจัดซื้ออาวุธในรัฐบาลนี้เพราะจะผูกพันในรัฐบาลหน้า พร้อมขอให้กระทรวงกลาโหมชี้แจงเรื่องดังกล่าว

...

นอกจากนี้ในเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ในงบ 9.9 พันล้าน จากประเทศจีน พบว่าเปลี่ยนไปเป็นรุ่นอื่น จึงตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะกลายเป็นค่าโง่หรือไม่ อีกทั้งยังพบว่ากระทรวงกลาโหมไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ โดยไม่พบการซื้อยุทธโปกรณ์ที่ผลิตในไทย ทั้งเสื้อกันกระสุน หน้ากากกันสารพิษ หรือ ยานเกราะ เป็นเพราะว่าไม่มีเงินทอนหรือไม่ จึงไปจัดซื้อกับต่างประเทศแทน ทั้งที่สามารถร่วมมือกับเอกชนในการร่วมพัฒนาในเรื่องดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันยังระบุว่า ทางกองทัพ เขียนมาตรฐานด้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในแต่ละเหล่าทัพไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งสร้างความยุ่งยากและเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการ อีกทั้งกฎหมายยังมีความล้าสมัย จึงมองว่ากระทรวงกลาโหมต้องปรับตัวในเรื่องดังกล่าว

นายพิจารณ์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ทางกองบัญชาการกองทัพไทย มีหน้าที่ ตัดถนน ขุดบ่อ หรือไม่ หลังพบว่ามีงบถึง 44% ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งถือไม่ใช่เรื่องน้อยๆ และมองว่าเป็นการมาผิดทาง นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงเรื่องความไม่โปร่งใส เพราะมีการแจงการของบประมาณมาแค่บรรทัดเดียวโดยไม่มีรายละเอียด จึงเรียกร้องขอเอกสารมาในชั้นกรรมาธิการด้วย และขอให้กระทรวงกลาโหมปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสด้วย