สงคราม รัสเซีย-ยูเครน ที่ยังปิดบัญชีกันไม่ลง คงไม่ต่างจาก สงครามที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ที่ผ่านมาตราบใดที่ยัง ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และ สามารถควบคุมกระชับพื้นที่ให้อยู่ในยูเครนได้ ไม่ลุกลามไปที่อื่น ผลกระทบส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของ ผู้อพยพจากภัยสงครามและผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับ ด้านพลังงาน เป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็นที่ต้องเกาะติดกันต่อไป
เข้าใจว่า รัสเซีย เองก็ระมัดระวังในประเด็นนี้ เพราะถ้าตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์และเปิดสงครามกับประเทศอื่นร่วมด้วย รัสเซียก็ไม่แน่ใจว่าจะเอาชนะได้หรือไม่ โดยเฉพาะประเทศพันธมิตรรัสเซียจะให้ความร่วมมือแค่ไหน ดังนั้น ท่าทีที่ ฟินแลนด์ และ สวีเดน ต้องการจะเข้าร่วมกับ นาโต ถึง รัสเซีย จะมีความหวาดระแวง ฝ่ายพันธมิตรยุโรป จะไปตั้งกองกำลังของนาโตในพื้นที่ของทั้งสองประเทศก็ตาม ก็ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านแต่ประการใด
การที่ ประเทศอาเซียน 8 ประเทศ ไปร่วมประชุม อาเซียน-สหรัฐฯสมัยพิเศษ ถึงจะไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นการสนับสนุนฝ่ายสหรัฐฯโดยตรงก็ตาม แต่ปฏิกิริยาของจีน ต่อการประชุมในครั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่งว่า นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า เอเชีย-แปซิฟิก ไม่ใช่ภูมิภาคที่อยู่บนเกม กระดานหมากการเมือง กรอบความร่วมมือระหว่างภูมิภาค ไม่ว่าเรื่องใด ควรตั้งอยู่บนหลักการของการเคารพและให้เกียรติการไม่ก้าวล่วงอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และอธิปไตยของประเทศ
ไม่ควรใช้หลักการสงครามเย็นทำให้ต้องเกิดการเลือกข้างและแบ่งแยก
เรื่องนี้จีนคงมองถึงข้อตกลง ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องของ ข้อกฎหมาย และ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ที่เป็นข้อพิพาทที่ยืดเยื้อมานาน สหรัฐฯมีแผนที่จะปักหมุดในอาเซียน จากยุทธศาสตร์ความร่วมมือ เอเชีย-แปซิฟิก ในขณะเดียวกัน จีนก็มีแผนยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่เชื่อมทวีป โดยระบบการขนส่งขนาดใหญ่ในเส้นทางเดียวกัน
...
ล่าสุด จีน กลับมาลงทุน บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อีกรอบ เพื่อจะปลุก เศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ให้เป็นจุดศูนย์กลางของการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้ กลุ่มทุนจีนทุ่มลงทุนพัฒนาสามเหลี่ยมทองคำให้เป็น ตลาดน้ำขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท มีทั้งสนามบินและการขนส่งทางราง ที่สามารถรองรับการเดินทางด้วยเครื่องบินขนาด 200 ที่นั่ง บินขึ้นลงได้อย่างสบายๆ
เป็นการกระชับพื้นที่ของประเทศในภูมิภาคนี้ ที่จะต้องตัดสินใจกับการเลือกข้าง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นการพัฒนาใน สปป.ลาว ที่เป็นแบบก้าวกระโดด จากเม็ดเงินการลงทุนขนาดใหญ่ของ จีน ที่ต้องการใช้ สปป.ลาว เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าและการลงทุน
ประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ แต่กำลังถูกบีบจากทั้งซ้ายทั้งขวา ทั้งล่างและทั้งบน การเมืองโลกที่กำลังล้อมประเทศอยู่ในขณะนี้ จะเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงการเจริญเติบโตของประเทศในอนาคต.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th