“อนุทิน” นำประชุม คกก.โรคติดต่อ เผยตอนนี้เข้าสู่ระยะ 3 เตรียมพร้อมแผนเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น หลังยอดติดเชื้อ-เสียชีวิตลดเร็วกว่าคาด ไร้ระบาดใหญ่หลังสงกรานต์ ชมผลจากประชาชนร่วมมือ

วันที่ 11 พ.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ เข้าร่วม

จากนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมมีการหารือแผนดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น และเตรียมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะที่ 4 Post-pandemic (ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น) เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่นเช่นกัน อาทิ สเปน, อินเดีย, รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

...

สำหรับภาพรวมขณะนี้ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 หรือ Declining (การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 คน) มีผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ลดลงเร็วกว่าฉากทัศน์ที่คาดการณ์ไว้ เป็นผลจากประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการ ทำให้ควบคุมสถานการณ์หลังสงกรานต์ได้ดี ไม่มีการระบาดใหญ่ตามมา รวมถึงความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงมีการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่นในบางส่วนแล้ว อาทิ ประกาศลดระดับการเตือนภัยจากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ทั่วประเทศ และมอบหมายให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปิดเมืองเปิดประเทศตามมาตรการ “2U” (Universal Prevention & Universal Vaccination) และ “3 พอ” (เตียงพอ หมอพอ เวชภัณฑ์และวัคซีนพอ) โดยภาพรวมประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 134 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรกกว่า 81% เข็มที่สอง 74% เข็มกระตุ้น 38% และอยู่ระหว่างเร่งรัดการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงให้ได้ตามเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข็มแรก 84% เข็มที่สอง 80% และเข็มกระตุ้น 42%

ส่วนมาตรการเตรียมรับการเปิดเทอมทั่วประเทศ ในวันที่ 17 พ.ค. 2565 กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับมาตรการป้องกันโรคและการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและสามารถเปิดเรียน On-site ได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กนักเรียน ซึ่งขณะนี้เด็กอายุ 5-11 ปี ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกกว่า 54% และเข็มที่สอง 17%

นายอนุทิน เปิดเผยต่อไปว่า ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ชื่นชมความสำเร็จในการรับมือวิกฤติโควิด-19 ของไทย โดยมีปัจจัยความสำเร็จ 5 ประการ ได้แก่ 1. ผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหา 2. มีระบบหลักประกันสุขภาพและการดูแลปฐมภูมิที่ดี 3. มีความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ อสม. ที่เป็นกำลังสำคัญของสาธารณสุข 4. ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็ง และ 5. มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการโควิด-19 ซึ่งจะมีการนำเสนอประสบการณ์ในการรับมือโควิด-19 ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกให้ประเทศสมาชิกได้เรียนรู้ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. ยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565-2573 และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565-2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อปิดช่องว่างและพัฒนารูปแบบ การดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบี และซี ให้ได้ภายใน พ.ศ. 2573 และ 2. โครงการป้องกันและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางแสวงบุญ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ปี 2565