"เทพไท เสนพงศ์" เบรก กองเชียร์ชัชชาติ ป้ายหาเสียงติดเสาไฟ ไม่ใช่ของใหม่ ชี้พรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาแล้ว แนะผู้สมัครทุกคน ปรับป้ายให้เหมาะกับสถานที่ เพื่อเป็นประโยชน์ของส่วนรวม
วันที่ 4 เมษายน 2565 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัวข้อความว่า ผมเห็นทวิตเตอร์ของผู้ที่ใช้นามว่า kafaak (นายกาฝาก) นำภาพป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ แบบติดเสาไฟฟ้า เมื่อครั้งมีการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 มาเผยแพร่ ทำให้นึกถึงป้ายหาเสียง ของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ที่ใช้รูปแบบป้ายหาเสียงขนาดเล็กติดตามเสาไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกีดขวางทางสัญจร ของประชาชนบนฟุตปาท เพียงแต่ไม่ได้เก็บภาพเหล่านั้นไว้เป็นหลักฐาน และเผยแพร่ทางสื่อโซเชียล
แต่ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ เมื่อคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ หลายเลข 8 ได้ใช้รูปแบบป้ายหาเสียง โดยการติดป้ายขนาดเล็กแนวตั้งบนเสาไฟฟ้า ก็มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล และมีการแชร์ภาพกันอย่างแพร่หลาย ถือว่าเป็นการวางยุทธศาสตร์ในการหาเสียงมาเป็นอย่างดี และขอชื่นชมทีมงานการหาเสียงว่า ได้หยิบฉวยนำรูปแบบของป้ายหาเสียงมาสร้างเป็นกระแสนิยมให้กับผู้สมัครได้พอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับการติดป้ายหาเสียงของผู้สมัครคนอื่นๆ ที่ติดป้ายแบบหนาแน่นเรียงรายติดต่อกันหลายป้าย จนมีการขยายผลทางโลกโซเชียล นำป้ายหาเสียงของคุณชัชชาติ มาเปรียบเทียบกับป้ายหาเสียงผู้สมัครคนอื่นๆ จนได้รับความชื่นชม และคะแนนนิยม จากรูปแบบป้ายหาเสียงในครั้งนี้ได้ไม่น้อย
ผมเห็นว่าการที่ kafaak (นายกาฝาก) ได้โพสต์ทวิตเตอร์โชว์รูปภาพป้ายหาเสียง ของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2562 ก็เพียงแค่กระตุกเตือนสังคม ให้เห็นว่ารูปแบบการหาเสียงโดยการติดป้ายขนาดเล็กบนเสาไฟฟ้า ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ในการหาเสียงของคุณชัชชาติเท่านั้น ปรากฏการณ์แบบนี้เคยนี้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว สังคมจะได้ไม่ต้องตื่นเต้น หรือประหลาดใจคิดว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ กับการติดป้ายหาเสียงในรูปแบบนี้อีกต่อไป
...
ถ้าหากจะมีผู้สมัครคนใด จะปรับเปลี่ยนรูปแบบป้ายเสียง จากป้ายหาเสียงขนาดใหญ่ เกะกะไม่เหมาะสมกับสถานที่ติดตั้ง มาเป็นป้ายหาเสียงขนาดเล็ก ก็ย่อมทำได้ ยังไม่สายเกินไป ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ เพราะไม่ได้เป็นลิขสิทธิ์ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เป็นการหาเสียงแบบสร้างสรรค์ ที่สังคมควรจะสนับสนุนต่อไป