แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว แต่เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งนาน ได้ทำงานไว้มาก จึงมีหลายต่อหลายเรื่อง ให้ต้องคิดถึงท่าน

เรื่องการสร้างเมืองหลวงแห่งที่สอง ที่เพชรบูรณ์ ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง ที่ท่านตั้งอกตั้งใจทำ

แผนย้ายเมืองหลวง...ในช่วงเวลาสงคราม ช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นยึดครองไทย เป็นแผนลับสุดยอด ที่ให้ใครรู้ไม่ได้

ญี่ปุ่นนั้น มีข่าวที่มีคนจงใจปล่อยให้แว่วๆเข้าหู เพชรบูรณ์เป็นเมืองที่มีภูเขาล้อมรอบ สามารถป้องกันภัยทางอากาศได้ดีกว่า แต่ความจริง...ก็ว่ากันว่า แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตี ก็เจาะจงโจมตีเฉพาะจุดที่ญี่ปุ่นใช้ประโยชน์

8 ธ.ค. ญี่ปุ่นบุกไทย ไทยสู้ไม่ไหวก็จำยอม แต่เมื่อญี่ปุ่นทำท่าจะเพลี้ยงพล้ำ ก็ต้องหาทางสลัดญี่ปุ่น

ก็ต้องเตรียมสู้กับญี่ปุ่น

ชัยภูมิเพชรบูรณ์อยู่ใจกลางประเทศ ทางหนีมีอยู่มาก ทั้งยังเหมาะกับการใช้กำลังคนน้อย สู้กับกำลังคนมาก

หลังการสำรวจท่านผู้นำก็เริ่มย้ายกระทรวง ทบวง กรม และสถานที่ราชการทุกแห่งจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบูรณ์

กระทรวงคลัง ย้ายไปอยู่ถ้ำฤาษี อ.หล่มสัก ปรับปรุงถ้ำให้มั่นคง ขนทองคำทุนสำรองและของมีค่าในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ไปเก็บไว้ ถ้ำนี้วันนี้ยังเรียกกันว่า ถ้ำฤาษีสมบัติ

โรงพิมพ์ธนบัตร โรงพิมพ์กรมแผนที่ ซึ่งพิมพ์เอกสารราชการ ไปอยู่รวมกันที่หนองนายั้ง อ.เมือง

สำนักนายกฯ ศาลารัฐบาล อยู่น้ำตกห้วยใหญ่ กระทรวงพาณิชย์ อยู่ปลายห้วยป่าไม้แดง ทำเนียบบ้านสุขใจ ที่พักท่านผู้นำและครอบครัว อยู่ติดแม่น้ำป่าสัก ทำเนียบสามัคคีชัย อยู่เขารัง

มีตลาดสามแห่ง ที่เพชรบูรณ์ หล่มสัก และวังชมภู ทุกตลาด มีโรงมหรสพ มีการเตรียมการออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ชื่อพิบูลชัย หนังสือฉบับนี้ มีคำขวัญว่า “เชื่อพิบูล ชาติไม่แตกสลาย”

แผนเมืองหลวงใหม่เริ่มไม่นาน แต่ความจริงเมืองเพชรบูรณ์ขณะนั้นยังเป็นป่า มีเชื้อมาลาเรียชุกชุม คนต่างถิ่นที่เจ็บป่วยล้มตายกันมาก ทั้งยังมีข่าวลือว่าเสือดุเคยลากคนไปกิน เมืองเพชรบูรณ์ก็กลายเป็นเมืองมฤตยู

20 ก.ค. 2487 ท่านผู้นำ เสนอ พ.ร.ก. ระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ เข้าสภา ฝ่ายเสรีไทยเกรงว่าหากปล่อยให้จอมพล ป. เป็นนายกฯต่อไปจนสงครามจบ ไทยก็ต้องกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม จึงยกมือคว่ำ พ.ร.ก.

ฝ่ายรัฐบาลจะชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนเป็นจริง ก็ไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นยังค้ำคออยู่ 24 ก.ค. จอมพล ป. จึงต้องลาออก ยุทธการสร้างเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ก็ต้องจบลง
โรม บุนนาค เล่าไว้ในหนังสือบันทึกแผ่นดิน ชุดเรื่องเก่าเล่าสนุก เล่ม 3 ว่า การสร้างเมืองหลวงใหม่ฟังดูเลิศหรูอลังการงานสร้าง แต่เนื่องจากเป็นปฏิบัติการลับ งบประมาณจำกัด ทุกสถานที่ราชการ กระทั่งทำเนียบรัฐบาล

จึงต้องสร้างด้วยไม้ไผ่

สิ่งก่อสร้างทุกแห่งจึงผุพังไปตามกาลเวลา เหลือเป็นอนุสรณ์แห่งเดียว คือศาลหลักเมือง ซึ่งสร้างด้วยปูนซีเมนต์

การเมืองพลิกผัน จอมพล ป. ตกเป็นจำเลยคดีอาชญากรสงคราม ถูกจำขังอยู่ในโรงพักศาลาแดง ทุกเช้าทุกเย็น เมื่อถึงเวลาชักธงชาติขึ้นและลง

ท่านผู้นำก็ลุกขึ้นยืน ทำความเคารพแข็งขัน

“นี่เป็นงานชิ้นหนึ่ง ที่เราทำกันไว้” จอมพล ป. รำพึงกับลูกน้องที่ร่วมห้องขัง

รัฐนิยม 12 ข้อ ที่รณรงค์กันในสมัยจอมพล ป. รัฐบาลใหม่สั่ง

ยกเลิก แต่หลายเรื่อง เช่น การเคารพธงชาติ การนุ่งกางเกงขายาว ฯลฯ

ก็ยังใช้กันอยู่ถึงวันนี้

ตอนเกิดมหาอุทกภัย น้ำทุ่งน้ำท่าบ่าเข้าท่วมกรุงเทพฯ มีบางเสียงจากคนรุ่นเก่ารำพึงว่า ถ้าย้ายเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์ได้เสียเมื่อตอนนั้น...

หลายคนคงไม่ต้องทุกข์ทนอยู่กับน้ำเน่า

ผู้นำที่พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว มีไม่มากคนนักนะครับ ที่มีคนบ่นถึง.

...


กิเลน ประลองเชิง