"อนุทิน" รองนายกฯและรมว.สธ. แจงชัด UCEP COVID-19 PLUS ครม.ไม่ตีตก เพราะเป็นการตัดสินใจของ สธ. ย้ำ ผู้ป่วยเหลือง-แดง ได้สิทธิ์รักษาพยาบาลเหมือนเดิม

3 มี.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความชัดเจนเรื่องออกประกาศแนวทางรักษาผู้ป่วยโควิด-19 (UCEP COVID-19 PLUS) ว่า ที่ผ่านมามีการออกข่าวว่าถูก ครม.ตีตกไปแล้ว ขอย้ำว่า เรื่องนี้ ครม.ตีตกไม่ได้ แนวทางการรักษาพยาบาล เป็นเรื่องของแพทย์ที่จะพิจารณา เป็นเรื่องของ รมว.สธ.ตัดสินใจ แล้วที่มีการทักท้วงว่าตอนนี้จำนวนผู้ป่วยอยู่ในช่วงขาขึ้น ยิ่งต้องให้เข้าถึงเตียงมากที่สุด แต่ในทางกลับกัน เมื่อผู้ป่วยมาก ก็ยิ่งต้องสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ อย่างผู้ป่วยหนัก เราต้องจัดการภาพใหญ่ ลดความสูญเสีย

"ย้ำว่า UCEP PLUS เราไม่ได้จะทิ้งคนป่วย แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของโรคแล้ว และเราต้องดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม สิ่งที่ต้องขอ ครม.ไม่ใช่เรื่องของแนวทางการรักษา แต่เป็นเรื่องของงบในการมาดูแล UCEP PLUS ซึ่งผู้ป่วยเกณฑ์สีเหลือง สีแดง ต้องดูแลเหมือนเดิม แต่สีเขียว ต้องได้รับการรักษาที่บ้าน ที่ต้องเข้า ครม. เพราะเราไม่อยากเห็นปัญหาเรื่องเบิกจ่าย เรื่องมีแค่นี้" นายอนุทิน กล่าว

...

เมื่อถามเรื่องสายด่วนโควิด-19 ไม่พอ นายอนุทิน ตอบว่า ได้สั่งการไปแล้ว หาวิธีในการนำผู้ป่วยเข้าระบบให้ได้มาก และดำเนินโครงการ "เจอ แจก จบ" ให้เร็ว วันนี้ได้ประชุมกับคณะผู้บริหารเห็นตรงกัน สถานการณ์วันนี้ยังดีกว่าปีก่อน ที่เราไม่มีวัคซีน เตียงไม่พอ รถฉุกเฉินไม่พอ ปัจจุบัน เราเหลือแค่การนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบ Home Isolation พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือในการรักษาตัวเองที่บ้านแล้ว ทางกระทรวงฯ พยายามคลี่คลายปัญหาคอขวด ด้วยสมมติฐานว่า โรคไม่รุนแรง มีอันตรายน้อยลงมาก หลายคนสามารถเข้าสู่โครงการ "เจอ แจก จบ" เราสนับสนุนเรื่องยา เราพยายามทำให้คนเข้าใจโรค พร้อมไปกับเร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์

ในเรื่องสายด่วน ได้สั่งการให้ทุกกรมกองเพิ่มศักยภาพการสื่อสารกับผู้ติดเชื้อ ที่ผ่านมาทำให้เข้าใจว่าผู้ป่วยมีความกังวล และต้องการสอบถามเกี่ยวกับโรค ซึ่งอาจจะต้องแยกสายเพิ่ม เป็นสายการให้คำปรึกษา และสายที่จะนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบรักษา

"การทำงานร่วมกับ กทม. เราสนับสนุนเขาได้ แต่เราไปกำหนดการทำงานไม่ได้ เพราะ กทม.เป็นเขตบริหารพิเศษ แต่เราช่วยกัน เราต้องช่วยประชาชน ต้องเข้าใจว่า กทม.กับต่างจังหวัดต่างกัน ต่างจังหวัดมี รพ.สต., รพ.ชุมชน มีที่ให้ไปมาก มีหลายฝ่ายช่วยกันดูแล แต่ กทม.รูปแบบเขากำหนดไว้อีกอย่าง สธ.จากผู้ปฏิบัติ ต้องเป็นผู้สนับสนุน".