รัชดา เผย ครม.หนุนเพิ่มพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ยกระดับการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย 9 ด่าน มุ่งเน้นขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัย ช่วยเหลือแรงงานใต้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ

วันที่ 2 มีนาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ (กพต.) ซึ่งมีโครงการหลักๆ ที่จะดำเนินการในปี 2565 เป็นต้นไป เพิ่มเติมจากที่ได้ผลักดันไปแล้ว อาทิ

1.โครงการการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซีย (9 ด่าน) เพื่อยกระดับการค้าชายแดนและความร่วมมือในมิติต่างๆ ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ 1)โครงการพัฒนาและยกระดับสมรรถนะห้องปฏิบัติการชีวโมเลกุลด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (ด่านพรมแดน) ต้นแบบ ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาและนราธิวาส 2)โครงการจัดซื้อที่ดินเพื่อการขยายด่านบูเก๊ะตา จังหวัดนราธิวาส

2.โครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะบริเวณปากน้ำเทพา ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้ดำเนินโครงการ

3.โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงที่ยั่งยืนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน เรือชุดที่ 1 โดยมีกรอบวงเงินช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเรือประมง ชุดที่ 1 ภายใต้โครงการ จำนวน 104 ลำ และการจัดทำปะการังเทียมพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดชายแดนใต้ และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อดำเนินการสำหรับเรือประมงในพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล และนราธิวาส โดยต่อเนื่องอีก 318 ลำ ให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมาย

4.ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยบูรณาการการทำงานทุกหน่วยงาน เพื่อนำฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytic Platform : TPMAP) มาเป็นกลุ่มเป้าหมายในการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน 5 มิติ ซึ่งประกอบด้วยด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ

...

นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า สำหรับการช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มที่เดินทางกลับต่างประเทศภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการการช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก และสร้างงานสร้างอาชีพใน 3 ลักษณะ คือ

1) ผู้ที่พร้อมไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ โดยดำเนินการผ่านโครงการเปิดพื้นที่ประเทศไทยรองรับแรงงานไทยที่กลับจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการจัดส่งคนไปทำงานนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 3,448 คน
2) ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพในภูมิลำเนาเดิม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และกรมประมง ได้ดำเนินการสร้างอาชีพทางเลือกและฝึกอบรมทักษะอาชีพเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งสิ้น 6,178 คน
3) การเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานภาคเกษตรประเภทสวนปาล์มในประเทศมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเพื่อพิจารณาทบทวนปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน.