“วิษณุ” เปรียบ อภิปราย ม.152 เหมือนซักฟอก ครม.ทั้งคณะ ไม่ต้องตั้งวอร์รูม เกี่ยวกับใครให้ลุกตอบเอง เผย ทำการบ้านเรื่องกระจายอำนาจท้องถิ่นแล้ว ยอมรับ ฝ่ายค้านขอนับองค์ประชุมได้ แต่ไม่มีใครเคยทำ

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 14 ก.พ. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ระหว่างวันที่ 17-18 ก.พ. นี้ ว่า ไม่มีการตั้งวอร์รูมแต่อย่างใด ขอให้เอาเรื่องของตัวเองให้รอดเสียก่อน เนื่องจากการอภิปรายครั้งนี้สามารถอภิปรายเรื่องที่ไม่มีในญัตติได้ คล้ายกับการตั้งกระทู้ถามหมู่ ถามคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้ง 36 คน หากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องตนเองต้องตอบอยู่แล้ว และทราบว่ามีเรื่องที่เกี่ยวกับตนคือ เรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยได้เตรียมทำการบ้านเอาไว้แล้ว เพราะถ้าชี้แจงเฉยๆ คงไม่มีอะไร แต่ถ้าจะต้องการให้มีตัวเลข ข้อมูล ทุกคนต้องเตรียมตัวอยู่แล้ว เนื่องจากไม่เหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีการเจาะจงมาเป็นรายบุคคล ทำให้รู้แน่ชัดว่าบุคคลนั้นๆ จะถูกอภิปรายเรื่องใด ถูกอภิปรายประเด็นใด เป็นเรื่องๆ ไป แต่คราวนี้อภิปรายได้อย่างกว้างขวาง ครอบคลุมได้หมด สามารถแยกออกมาได้ประมาณ 10 ประเด็น โดยตนเองจะรายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบในวันที่ 15 ก.พ. แต่ไม่ได้จำกัดเคร่งครัดว่ามีแค่ 10 ประเด็นเท่านั้น เพราะประเด็นที่ 11 เขายกอะไรมาได้ทั้งนั้น เปรียบเหมือนซักฟอก ครม.ทั้ง 36 คนทีเดียว แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่มีอะไร ผ่านการอภิปรายแบบนี้มาทุกรัฐบาลแล้ว รัฐบาลนี้เองก็เคยเจอมาแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ญัตติที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เคยสงสัยกรณีฝ่ายค้านเขียนว่า การเลือกตั้งย้อนยุคไปสู่ระบบอุปถัมภ์ และการใช้เงินเป็นหลัก หมายถึงอย่างไร ขณะนี้ได้ข้อสรุปหรือยังว่าใครจะต้องเป็นผู้ตอบ นายวิษณุ กล่าวว่า ในการพบกับนายกฯ ในวันนั้น ตนได้อธิบายไปเรียบร้อยและนายกฯกระจ่างเรียบร้อยแล้วในวันนั้นเช่นกัน ส่วนคนตอบจะเป็นใคร ต้องฟังคำถามของฝ่ายค้านให้ดีก่อน เพราะเรายังไม่รู้ว่าเขาถามว่าอะไร ต้องแล้วแต่ตัวคำถาม เพราะอาจไม่ใช่เป็นคำถาม แต่อาจจะเป็นคำแนะนำก็ได้ จึงต้องไปฟังให้ดีก่อน หากเป็นคำแนะนำรัฐบาลต้องรับทราบ หรือถ้าเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยก็รับทราบไป หรือถ้าเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐบาลต้องไปแจ้งให้ กกต.รับทราบ

...

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านระบุว่าเรื่องการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมือง ใครจะเป็นผู้ตอบ นายวิษณุ กล่าวว่า ตอบได้หลายคน อาจจะเป็นตนหรือคนอื่นก็ได้ เพราะรัฐบาลได้รายงานต่อสภาทุก 3 เดือนอยู่แล้ว ทั้งการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รัฐบาลได้ทำอะไรไปถึงไหนอย่างไร หากสำเร็จเราบอกสำเร็จ หากไม่สำเร็จเราก็บอกไม่สำเร็จ ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำรายงานเป็นรูปเล่มหนาอยู่แล้วในขณะนี้ และมีการแจกไปทั่วประเทศ

เมื่อถามว่า การอภิปรายมาตรา 152 สามารถเสนอขอนับองค์ประชุมในสภาระหว่างการอภิปรายได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทำได้ นับองค์ประชุมได้ตลอดอยู่แล้ว เพราะอะไรที่เป็นการประชุมสภานั้นนับองค์ประชุมสภาได้ ซึ่งจะบริหารอย่างไรแล้วแต่ประธานสภาฯ กับวิปจะไปตกลงกัน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในทางการเมือง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดไม่ได้ เพราะอะไรที่ไม่เคยเกิด มันก็เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่ไม่มีอะไรน่าวิตกกังวลหรอก เพราะตามมาตรา 152 ระบุว่า เพื่อให้ซักถาม หรือให้คำแนะนำก็เท่านั้นเอง ไม่มีอะไร

ส่วนรัฐบาลจะแถลงผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่จะครบ 5 ปี ในเดือน เม.ย.นี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ไม่จำเป็นต้องแถลง เพราะเขาต้องไปปรับแก้ยุทธศาสตร์ เมื่อครบ 5 ปี ต้องไปทบทวนว่าจะเอาอย่างไร ตอนนี้พิมพ์เป็นเล่มแล้ว

ทั้งนี้ นายวิษณุ ได้หยิบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศประจำปี 63 และ 64 มาให้สื่อมวลชนดู พร้อมระบุว่าสิ่งที่จะตอบทั้งหมดอยู่ในนี้ อะไรที่ไม่สำเร็จ เขาก็สารภาพมาว่าไม่สำเร็จ