"ธีรัจชัย" โฆษก กมธ.ป.ป.ช. และ ส.ส.ก้าวไกล ขอถอนตัวจากผู้รับผิดชอบ ปมสอบ "เอ้-สุชัชวีร์" ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ปชป.ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ป้องกันข้อครหา ผลประโยชน์ทับซ้อน
วันที่ 4 ก.พ. 65 ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณี กมธ.ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อร้องเรียน ที่มีผู้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติ ของนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ว่า ได้เชิญรักษาการอธิการบดี สจล. และเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ให้ข้อมูลเมื่อวานที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน จึงขอกลับไปหาข้อมูล และแจ้งกลับมายัง กมธ.ภายใน 15 วัน โดยมีประเด็นที่ต้องหาข้อเท็จจริง คือ นายสุชัชวีร์ แต่งงานกับภรรยาเมื่อไหร่ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาภายในปีเดียวถึง 254 ล้านบาท, ข้อมูลการเสียภาษี ที่ทราบว่าได้เสียภาษีปีละ 1 ล้านบาท นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
...
โฆษก กมธ.ป.ป.ช.กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีอัตราเงินเดือน เบี้ยประชุม และค่าจ้างอื่นๆ ของ สจล. ตามที่รักษาการอธิการบดีสจล. ชี้แจง คือ ได้รับโบนัสกว่า 5 ล้านบาท เงินเดือน 1 ล้าน 4 แสนบาท ค่าที่ปรึกษาวิชาชีพวิศวกรรม 3 ล้านบาท เงินประจำตำแหน่งอีก 5 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลอื่นๆ จะชี้แจงต่อไป ขอยืนยันว่าการตรวจสอบของ กมธ.ป.ป.ช. มีความโปร่งใส มีคณะกรรมการจากทุกฝ่ายอยู่ในคณะกรรมการ ผมทำหน้าที่ตรงไปตรงมา
"ผมยืนยันว่าการตรวจสอบของ กมธ.เป็นคณะทำงานมีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล มีความโปร่งใส ส่วนที่หลายคนครหาผม ในฐานะเป็น ส.ส.ก้าวไกล ที่ทำเรื่องตรวจสอบคู่แข่งขันของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อาจจะเห็นว่าเป็นการดิสเครดิตกันนั้น ผมทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ดังนั้นจึงขอให้เปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบเรื่อง ในที่ประชุมนัดหน้า เพื่อไม่ให้มีคำครหาว่ามีประโยชน์ทับซ้อน" นายธีรัจชัย กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ผู้ที่ร้องเรื่องดังกล่าวมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ นายธีรัจชัย กล่าวว่า ขอให้สอบถามพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ฐานะประธาน กมธ.ป.ป.ช. เพราะเป็นผู้ที่รับเรื่องดังกล่าว
นายธีรัจชัย กล่าวว่า เนื่องจาก นายสุชัชชวีร์ ไม่ได้มาจากครอบครัวที่เป็นมหาเศรษฐีมาก่อน และภรรยามีฐานะปานกลาง จากการตรวจสอบเอกสารตามคำร้องในเบื้องต้น ปรากฏการเข้ารับตำแหน่ง 2 ตุลาคม 2558 และยื่นบัญชีทรัพย์สินวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 มีทรัพย์สินทั้งสิ้นกว่า 44 ล้านบาท จากนั้นในวันที่ 19 กันยายน 2563 ปรากฏว่า มีบัญชีทรัพย์สินกว่า 74 ล้านบาท ยื่นบัญชีทรัพย์สินวันที่ 1 ตุลาคม 2564 มีทรัพย์สินรวมภรรยาด้วยกว่า 342 ล้านบาท
“ในช่วง1 ปีหลัง พบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 247 ล้านบาท เป็นข้อสังเกตที่มีการเสนอมาให้กรรมาธิการตรวจสอบ ซึ่งกรรมาธิการจะตรวจสอบว่า ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นเป็นของภรรยาหรือไม่ เนื่องจากในการดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี เมื่อปี 2563 มีทรัพย์สินเพิ่มมาเป็น 342 ล้านบาท โดยกรรมาธิการจะตรวจสอบว่ามีการสมรสเมื่อไหร่ ตามข้อมูลคือในปี 2561 สำหรับในการประชุมกรรมาธิการได้เชิญ อธิการบดี สจล. และ รองอธิบดีกรมสรรพากร มาชี้แจงตามที่อธิบดีมอบหมาย ยืนยันว่าในชั้นกรรมาธิการเป็นการสอบข้อเท็จจริงทั้งคณะไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง ซึ่งมี ส.ส.ทุกพรรคทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยมี ส.ส. อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ จากประชาธิปัตย์ร่วมด้วย เชื่อว่าจะเป็นกระบวนการที่โปร่งใสตรวจสอบได้” โฆษก กมธ.ป.ป.ช. กล่าว...
นายธีรัจชัย กล่าวต่อไปว่า การสอบถามประเด็นที่หนึ่ง เรื่องของหน้าที่อธิการบดีว่ามีอะไรบ้าง ทำงานเป็นเวลาหรือไม่ หรือสามารถรับงานอย่างอื่นให้มีรายได้เพิ่มเติมได้หรือไม่ รวมถึงเงินเดือนในตำแหน่งอธิการบดีและค่าตอบแทนต่างๆ คำตอบที่ได้เป็นตัวเลขกลมๆประมาณ 1-2 แสนบาท และไม่สามารถไปทำงานอย่างอื่นได้ในเวลาราชการ ไม่ได้รับเบี้ยในการประชุมอธิการบดี แต่การประชุมอย่างอื่นได้
โดยมีข้อมูลตามคำร้องว่า ได้รับเบี้ยประชุมและโบนัสปีละ 5.5 ล้านบาท ในประเด็นนี้รักษาการอธิการบดี ยังให้รายละเอียดไม่ได้ แต่รับว่าจะนำเอกสารมาชี้แจงภายหลัง สำหรับเงินประจำตำแหน่งอธิการบดี 5,090,000 เงินเดือน จำนวน 1,410,817 บาท ส่วนค่าที่ปรึกษาวิชาชีพวิศวกรรม 3,500,000 บาท ในตำแหน่งอธิการบดีทำได้หรือไม่ รักษาการอธิการบดีจะนำเอกสารมาชี้แจงภายใน 15 วัน
“ตามคำร้องได้กล่าวว่า ในปี 2558 - 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ นายสุชัชวีร์ ดำรงตำแหน่ง มีการก่อสร้าง 5-6 โครงการใน สจล. คำร้องตั้งคำถามว่า มีบริษัท วันดีทูมูฟจำกัด มีส่วนร่วมในการเข้ามารับงานด้วยหรือไม่ เนื่องจากบริษัทดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลใกล้ชิดกับ นายสุชัชวีร์ ซึ่งกรรมาธิการจะตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อร้องเรียนดังกล่าวนั้นเป็นกรณีการก่อสร้างโครงการ 5-6 โครงการ ระหว่างที่นายสุชัชวีร์เป็นอธิการบดี สจล. ช่วงปี 2554-2558 โดยบริษัทที่มีคนใกล้ชิดของ นายสุชัชวีร์ เข้ามารับงาน จากนั้นช่วงปี 2559-2560 ยังพบว่า สจล.ได้รับงานจากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล แต่ปรากฏว่าบริษัทเดิมก็เข้ามารับงานดังกล่าวเช่นกัน ขณะที่โครงการที่ สจล.ทำงานให้กับ กทม.หลายโครงการเช่นกัน.