การเลือกตั้งซ่อม เขตหลักสี่–จตุจักร เป็นข้อบ่งชี้ถึง อนาคตทางการเมืองของพรรคการเมือง ทั้งขั้วที่เอากับ ระบอบประยุทธ์ กับที่ ไม่เอาระบอบประยุทธ์ จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งไม่ใช่ระหว่าง ประชาธิปไตย หรือ เผด็จการ แต่เป็นการเอา พล.อ.ประยุทธ์ กับไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง
เริ่มจาก พลังประชารัฐ การที่ สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครของพลังประชารัฐ พ่ายแพ้คาบ้านชนิดไม่เห็นฝุ่นผู้ชนะ มีหลายเหตุผล เนื่องจาก มาดามหลี ไม่ใช่ สิระ เนื่องจากกระแสของรัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากยุทธศาสตร์ การชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ไม่ได้ผลกับคน กทม. เนื่องจากคู่แข่งเข้มแข็งกว่า และเนื่องจาก พลังประชารัฐ ไม่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่สนามการแข่งขันเนื่องจากปัญหาภายใน และเนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งกับแนวร่วมในอดีต ที่ประกาศหันไปสนับสนุนพรรคไทยภักดีแทน
การที่ สุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครจาก เพื่อไทย สามารถทวงพื้นที่คืนได้จาก พลังประชารัฐ อย่างแรกเลยคือ ความขยันในการลงพื้นที่ ไม่เคยทิ้งพื้นที่ แม้จะสอบตกก็ตาม บวกกับ พลังประชารัฐ กำลังอ่อนแอ คู่แข่งอย่างก้าวไกล กรุณพล เทียนสุวรรณ ยังเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ และ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เจ้าของพื้นที่เดิมเขตจตุจักร ในนามของพรรคกล้า ย่อมไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนตอนที่อยู่กับประชาธิปัตย์ ในขณะที่ความเป็นขั้วที่อยู่ตรงกันข้าม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หรือค่ายประชาธิปไตย คงเป็นข้อได้เปรียบไม่มากนัก
พรรคก้าวไกล ที่ส่ง เพชร กรุณพล ลงสนามการเมืองใหญ่ครั้งแรกในชีวิต เสียเปรียบเรื่องการทำพื้นที่แน่นอน ประกอบกับคู่แข่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมทั้งนั้น ฐานเสียงของ ก้าวไกล ยังสู้ เพื่อไทย ไม่ได้ แต่ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 เกินกว่า 2 หมื่นคะแนน ก็เพราะคนกทม. อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงและเริ่มจะไม่ค่อยศรัทธากับ ระบอบประยุทธ์ ต่อไป รวมทั้งชื่อเสียงของ เพชร กรุณพล ในฐานะดาราที่มีคนรู้จักทั่วไปอยู่แล้วด้วย
...
ก้าวไกลจึงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับการเมืองสนามใหญ่
พรรคกล้า ที่ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 แพ้ ก้าวไกล แค่หลักร้อยเท่านั้น อันที่จริงแล้วทั้ง 2 พรรคมีแนวทางทางการเมืองใกล้เคียงกัน ต่างกันที่ประสบการณ์เท่านั้น อรรถวิชช์ ยังมีบุญเก่าจากพรรค ประชาธิปัตย์ อยู่บ้าง แต่ถ้าจะวัดความชัดเจนอุดมการณ์ทางการเมือง พรรคกล้า ยังไม่ชัดเจนเท่ากับ ก้าวไกล ขึ้นอยู่กับนโยบายพรรคใครจะเด่นกว่ากัน
ซึ่งการเลือกตั้งซ่อมเที่ยวนี้ จะเห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งก็คือ วิกฤติการเมืองในอดีต ไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขทาง การเมืองเหมือนเดิม แต่ ระบอบประยุทธ์ ถูกนำมาเป็นเงื่อนไข ในการตัดสินใจของประชาชนมากกว่า อาจจะเป็นเพราะคนเบื่อเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองเต็มที
การชูตัวผู้นำ และอุดมการณ์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของทุกพรรคในเงื่อนไขที่ว่าจะต้องอยู่บนความขัดแย้ง นอกจากนี้การเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นคะแนนจัดตั้ง
การเลือกตั้งต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นสนาม กทม. หรือสนามใหญ่ ถ้าระบอบประยุทธ์จะเดินหน้าต่อไป จะต้องเป็นชัยชนะที่แพ้ไม่ได้เด็ดขาด ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงนำไปสู่ปริศนาที่ว่า จะมีการเลือกตั้ง หรือไม่เท่านั้น.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th