นับเป็นการแพ้เลือกตั้งซ่อม 3 ครั้งติดๆกัน ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แพ้ยับเยินที่สุดคือที่เขต 9 กรุงเทพมหานคร เป็นการแพ้ที่ยับเยินที่สุด หลังจากแพ้มาแล้วที่สงขลาและชุมพร ส่วนที่เขตหลักสี่และจตุจักร กทม. ผู้สมัครพรรค พปชร. เคยได้กว่า 32,000 คะแนน เมื่อปี 2562 แต่คราวนี้ได้แค่ 7 พันกว่า

สมจริงดังคำกล่าวของ “คุรุทางการเมือง” ที่ว่าการเลือกตั้งที่ กทม. เป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า “หักปากกาเซียน” การเลือกตั้งที่ กทม. ไม่ว่าจะเลือกตั้งใหญ่หรือเลือกตั้งเล็ก มักจะชี้ขาดกันด้วย “กระแส” มากกว่า “กระสุน” จึงบ่งชี้ถึง คะแนนนิยมทั้งพรรค และผู้สมัครชี้ชัดๆ ว่ารัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง

การเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม.ครั้งนี้อาจพูดได้ว่าเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคที่ “เอาประยุทธ์” และพรรค “ไม่เอาประยุทธ์” พรรคที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่พรรค พปชร. พรรคกล้า พรรคไทยภักดี ได้คะแนนรวมกันกว่า 3 หมื่นคะแนน ส่วนพรรคที่ไม่เอาประยุทธ์ ได้แก่พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล

ทั้งสองพรรคได้คะแนนรวมกัน เกือบ 5 หมื่นคะแนน จึงเป็นการชนะที่ขาดลอย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค เพื่อไทย แถลงว่าผลการเลือกตั้งเป็นบันไดก้าวแรกของฝ่ายประชาธิปไตย เป็นสัญญาณ แสดงว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง คอการเมืองมองว่าไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่แค่โพลก็ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาลง

ส่วนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ผู้สมัครของพรรคได้คะแนนมาเป็นที่ 2 แถลงว่าแม้จะไม่ชนะ แต่ถือว่าเดินถูกทาง ผลการเลือกตั้งยืนยันการมีอยู่ของพรรคก้าวไกล และยืนยันการมีอยู่ของนักการเมืองแบบนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ ส่วนผู้สมัครพรรคกล้าพอใจ ที่ได้คะแนนเท่ากับพรรคที่มี ส.ส. 50 คน

...

แกนนำพรรค พปชร.บางคนอ้างว่า เหตุที่แพ้ เพราะพรรคไม่มีแม่ทัพตัวจริง เหมือนกับการเลือกตั้งใหญ่ 2562 ไม่ยอมรับการขึ้นหรือการลงของพรรคและนักการเมือง หัวหน้าพรรค พปชร.ยืนยันกระต่ายขาเดียว ไม่มีการแตกแยกในพรรค ทั้งๆที่พรรคเพิ่งจะขับ ส.ส.ถึง 22 คน และก่อนหน้านั้นก็มีปัญหาต่อเนื่อง

ผู้ที่ยืนยันว่ารัฐบาลยังคะแนนนิยมดี น่าจะหันกลับไปมองเกือบ 8 ปี ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีผลงานอะไรที่น่าประทับใจ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การแก้ปัญหาของแพง ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ผลงานเด่นสุดคือการลดแลกแจกแถมที่ไม่มั่งคั่ง ยั่งยืน.