"ชินวรณ์" รองประธานวิปรัฐบาล สวมบทกูรู วิเคราะห์การเมืองร้อนปี 65 โว แก้ รธน.ใช้บัตร 2 ใบเพิ่มประชาธิปไตย โต้ ปมยุบสภา พ่วงเหตุ รัฐประหารซ้อน ซัด ผู้วิเคราะห์ไม่รับผิดชอบ
วันที่ 5 ม.ค. 2565 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานวิปรัฐบาล วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองปี 2565 ตามที่มีข่าวว่า จะมีการยุบสภา หรือการปฏิวัติซ้อนจริงหรือไม่ ว่า จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการ 10 ข้อ ถึงการเมืองไทยปี 2565 ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ และใช้ความรู้สึกส่วนตัว มีอคติ และเป็นการด้อยค่าระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ตนจึงขอวิเคราะห์ในฐานะนักการเมือง ที่มีประสบการณ์จริงและอยู่ในวงในการเมืองดังนี้
1. รัฐบาลอยู่ในช่วงแก้วิกฤติของประเทศ ทั้งวิกฤติโควิด-19 วิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติการเมือง ความนิยมจึงขึ้นลงตามสถานการณ์ แต่มีผลงานที่จับต้องได้ เช่น การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส มีการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนเฉพาะหน้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการประกันรายได้เกษตรกร การเมืองมีทั้งเชิงโครงสร้างและความขัดแย้งทางความคิด แต่รัฐบาลก็รักษาความมั่นคงเพื่อสร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง
2. การใช้งบประมาณแผ่นดิน ตอบโจทย์การแก้ปัญหาหลักของประเทศ การได้ความนิยมหรือไม่ อยู่ที่ความพึงพอใจของประชาชน แต่นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีข้อกล่าวหาในเรื่องทุจริต ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ยังไม่มีหลักฐานเด็ดที่จะจัดการคณะรัฐมนตรีได้
3. การทำหน้าที่ของ ส.ส. เน้นเรื่องพื้นที่จริง และมีส่วนทำให้สภาล่มซึ่งเป็นภาพลบของสภา แต่สภาชุดนี้ ประธานรัฐสภา สามารถคุมเกมได้มีประสิทธิภาพ และมีวาระพิเศษประชุมมากที่สุด ทั้งที่อยู่ในช่วงโรคระบาดโควิด-19
...
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า 4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายหลักรัฐบาล แต่มีข้อจำกัดในกับดัก มาตรา 256 ไม่สามารถตั้ง สสร.เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ การแก้เป็นรายมาตราและข้อเสนอของภาคประชาชน ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา การแก้ไขมาตรา 83 และ 91 ถือว่าเป็นความสำเร็จในการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นแบบบัตร 2 ใบ ประชาชนมีเสรีภาพที่จะเลือกได้ ทั้งคนที่รักและพรรคที่ชอบ ลดการซื้อเสียงลง พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น การมโนว่า พรรคใดจะได้ประโยชน์เป็นความคิดที่ดูถูกประชาชน หรือ ฝังใจที่แพ้การเลือกตั้ง และการเลือกแบบบัตรบัญชีรายชื่อ จะไม่มีแลนด์สไลด์ เพราะคิดจากฐาน 100 ทุกพรรคมีโอกาสเพราะข้อจำกัดของพรรคเล็ก ถูกยกเลิกไปแล้ว เช่น คะแนนขั้นต่ำหรือต้องส่งเขตเลือกตั้ง 100 เขต เป็นต้น ปัญหาจึงอยู่ที่ กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม ผลการเลือกตั้ง จึงเป็นที่ยอมรับของประชาชน
5. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในการเลิกอำนาจ ส.ว. เป็นความพยายามของเกือบทุกพรรค แต่ไม่ผ่านเสียงกับดัก 1 ใน 3 ของ ส.ว. แต่ในบทเฉพาะกาล ส.ส. ชุดนี้ จะหมดอำนาจนี้ในปี 2566 จึงไม่จำเป็นต้องยุบสภาเพื่อหนีการแก้ไขในเรื่องนี้ และตามหลักสากล ส.ว.ก็ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี
6. และ 7. ที่วิเคราะห์บทบาทของพรรคการเมือง เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจเป็นการวิเคราะห์ในมุมแคบเกินไป เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลักคิดในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงอยู่ที่ประชาชนจะเลือกให้ประเทศเดินไปในทิศทางใด ระหว่างแนวความคิดยึดคืนอำนาจกับสืบทอดอำนาจ เพราะการตัดสินใจของประชาชน จะอยู่บนคำถามการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ การแก้รัฐธรรมนูญ และความคิดการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลักคิดใดนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองมากกว่ากัน
8. การยุบสภา เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจริง แต่การยุบสภาเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มีความขัดแย้งในสภาที่เกี่ยวกับกฎหมายสำคัญ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่นายกรัฐมนตรี ต้องตัดสินใจว่าควรจะคืนอำนาจให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ โดยผ่านการเลือกตั้งหรือไม่ และส่วนใหญ่หากมีการยุบสภา นายกรัฐมนตรี ก็จะไม่มีโอกาสกลับมาอีก การวิเคราะห์ว่า จะยุบสภาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 จึงยังไม่มีข้อมูลสนับสนุน ที่สำคัญหากยุบสภาก่อนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2565 จึงเป็นการผูกคอตายทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่ภาววิสัยของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ยกเว้นโง่ เท่านั้น
9. ประเด็นครบ 8 ปี เป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่เป็นประเด็นทางวิชาการ และหลักกฎหมาย ความธำรงอยู่ของนายกรัฐมนตรีจึงไม่สามารถสร้างกระแสจากเรื่องนี้ได้ แต่ระยะเวลา 8 ปี เป็นเรื่องความรู้สึกของประชาชนว่าเบื่อหรือไม่ หลักสากลจึงกำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นวาระๆ ละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน หรือ ความรู้สึกของนายกรัฐมนตรีเองว่า ผมพอแล้ว หรือไม่เท่านั้น
และ 10. การวิเคราะห์เรื่องรัฐประหาร หรือเรื่องรัฐประหารซ้อน เป็นความไม่รับผิดชอบของผู้วิเคราะห์ว่า จะมีผลกระทบอย่างไรต่อสายตาชาวโลกและนักลงทุน การรัฐประหารในทางการเมืองไม่ต้องวิเคราะห์ เพราะนักการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่สุจริต ไม่มีใครเห็นด้วย และการรัฐประหารหากไม่สำเร็จก็จะเป็นกบฏ หากสำเร็จแต่ประชาชนไม่พึงพอใจก็จะกลายเป็นทรราช.