• เป้าหมายฉีดวัคซีนเข็ม 1 อย่างน้อย 80% และเข็ม 2 อย่างน้อย 70% ในเดือนธันวาคม 2564 ปิดจบเดือนยอดกลับไม่ถึงเป้า
  • ที่น่าตกใจรัฐบาลสามารถหาวัคซีนเข้าไทยในเดือนนั้นได้ถึง 24 ล้านโดส แต่ฉีดวัคซีนได้เพียง 11.2 ล้านโดส จนวัคซีนเหลือล้นเกินความต้องการ
  • ทั้งที่กลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง กลุ่มเปราะบาง อายุ 60 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มที่ต้องเข้าถึงวัคซีนมากที่สุด กลับมีเปอร์เซ็นต์การฉีดที่ยังไม่ถึงเป้า โดยเฉพาะคนท้องที่ฉีดวัคซีนได้น้อยที่สุด แม้โอกาสติดเชื้อแล้วเสียชีวิตจะมีสูง

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กางแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ประชากรไทยจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุม 70% ของประชากร หรือประมาณ 50 ล้านคน และต้องให้ได้ 100 ล้านโดส

โดยมีหลักการสำคัญ คือ

  • เพื่อให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทย ได้รับวัคซีนด้วยความสมัครใจ
  • เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขให้รองรับการระบาดได้
  • เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตในประชากรกลุ่มเสี่ยง
  • เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว และการเปิดประเทศ ตามแผนที่กำหนด

ขณะที่เป้าหมายของการฉีดวัคซีนภายในปี 2564 ต้องครอบคลุมผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 70% ภายในเดือนพฤศจิกายน และอย่างน้อย 80% ภายในเดือนธันวาคม รวมถึงต้องให้ครอบคลุมของผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อย 70% ภายในเดือนธันวาคม 2564

นอกจากนี้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ยังเป็นเส้นตายของรัฐบาลในการฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสอีกด้วย แต่เมื่อเช็กยอดในวันดังกล่าวกลับได้แค่ 95.4 ล้านโดสเท่านั้น

...

แล้วทั้งเดือนธันวาคม เป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้หรือไม่?

เมื่อเช็กยอดฉีดวัคซีน ปิดจบเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 104,444,169 โดส เข็มที่ 1 คิดเป็น 71.2% ของประชากร และเข็มที่ 2 คิดเป็น 64.1% ของประชากร ซึ่งในเดือนธันวาคมรัฐบาลสามารถฉีดวัคซีนได้มากถึง 11,212,706 โดส

แต่ยอดเข็มที่ 1 ที่ตั้งไว้ 80% กลับได้ไม่ตรงตามเป้า และขาดไปถึง 8.8% ส่วนยอดเข็ม 2 ที่ตั้งไว้อย่างน้อย 70% ก็ได้แค่ 64.1% ขาดหายไปถึง 5.9% และเข็ม 3 อยู่ที่ 9.7% เท่านั้น แม้จะทำยอดการฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดสก็ตาม

วัคซีนมีมาก แต่ฉีดได้ไม่ถึงครึ่ง

ขณะที่ในเดือนธันวาคม รัฐบาลสามารถหาวัคซีนเข้าไทยได้ถึง 24 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตราเซเนกา 14 ล้านโดส และไฟเซอร์ 10 ล้านโดส ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมวัคซีนที่เอกชนจัดหา หรือ ซิโนฟาร์ม อีก 4 ล้านโดส นั่นหมายความว่าในเดือนดังกล่าวจะมีวัคซีนอยู่ในไทยถึง 28 ล้านโดส แต่กลับฉีดวัคซีนได้เพียง 11.2 ล้านโดส ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งกับวัคซีนที่ได้รับมา

เมื่อดูรายละเอียดย่อยของการฉีดวัคซีนในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะเข็ม 3 มีเพียงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ฉีดได้ถึง 98.3% นอกจากนั้นไม่มีกลุ่มไหนได้ถึงครึ่ง แม้แต่กลุ่มประชาชนทั่วไป ที่เข็ม 1 และเข็ม 2 ก็ยังได้ไม่ถึง 70% แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่มีถึง 5 แสนคน การฉีดเข็มที่ 1 และเข็ม 2 ก็ได้ไม่ถึงครึ่ง โดยเข็ม 1 ได้เพียง 21.1% และเข็ม 2 อยู่ที่ 17.7% ส่วนเข็ม 3 ก็น้อยนิดอยู่ที่ 0.8% อย่างน่าใจหาย ทั้งที่กลุ่มนี้หากติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสเสียชีวิตสูงที่สุด

เหตุใดการฉีดวัคซีนไทยในช่วงปลายปีจึงยอดน้อย

การกลัวผลข้างเคียง และมาตรการเยียวยาของรัฐบาล พบว่ามีผลต่อการฉีดวัคซีนอย่างมาก รวมถึงขั้นตอนการลงทะเบียนที่ยุ่งยากก็ยังเป็นอุปสรรคสำหรับการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน ขณะที่บางส่วนยังมีความเชื่อว่าตนเองอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่ได้ไปพื้นที่เสี่ยงจึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน ก็ยังเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. พยายามรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนมารับวัคซีนทุกเข็มแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผลเท่าที่ควร

โดย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ระบุถึงเรื่อง "แนวทางการสร้างแรงจูงใจในกลุ่มที่ยังไม่เข้ารับวัคซีนโควิด-19" ว่า ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการรับวัคซีนออกมาได้เป็น 3 ช. คือ เชื่อมั่น ชะล่าใจ และช่องทาง

ซึ่งเรื่องความเชื่อมั่นในวัคซีน ในกลุ่ม 608 พบว่า ไม่เชื่อมั่นถึง 53.81% เป็นผลมาจากความปลอดภัย ผลข้างเคียง และสูตรวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะฟังเขาเล่ามา โดยมีผลกระทบกับกลุ่มดังกล่าวมากกว่ากลุ่มคนทั่วไป

ส่วนเรื่องความชะล่าใจต่อสถานการณ์ พบว่า มีถึง 80.89% โดยคิดว่าไม่เกี่ยวกับตนเอง และคิดว่าไม่ติดโรค ทั้งที่จังหวัดที่อาศัยอยู่มีการระบาดถึง 51% และมีคนที่รู้จักติดโควิดถึง 26.59% ซึ่งความจริงแล้วในสถานการณ์เช่นนี้ทั่วโลกมีความเสี่ยงเหมือนกัน

เรื่องช่องทางการรับวัคซีน พบว่า กลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน มีความสะดวกสบายเพียง 61.61% และสะดวกนัดหมายแค่ 52.94% เช่น มีความสับสนเรื่องการใช้แอปพลิเคชันหลายชนิด ไม่สะดวกเรื่องการเดินทาง

โจทย์ใหญ่เรื่องการฉีดวัคซีนกับโอมิครอนที่กำลังรุกคืบ

อุปสรรคเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ในเมื่อการฉีดวัคซีนไม่ได้ภาคบังคับ และเป็นสิทธิของประชาชนที่จะพึงรับ

แต่ที่น่าสนใจคือ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เข้าไทยอย่างเป็นทางการ จากระบบ Test and Go ไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ปัจจุบันก็มีแนวโน้มจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และกระจายไปหลายจังหวัดในเวลาอันรวดเร็ว แม้อาการจะไม่รุนแรงก็ตาม แต่กลุ่มผู้ที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน ก็ยังถือว่าน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะช่วงหลังปีใหม่นี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษว่ายอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มอีกเป็นจำนวนเท่าใด.

ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก : Chonticha Pinijrob