มท.สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ กำชับ อปท.จัดการขยะติดเชื้อจากชุดตรวจ ATK ในช่วงปีใหม่ เป็นไปตามแนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 สร้างการรับรู้มีส่วนร่วมของประชาชน
วันที่ 3 ม.ค. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนได้ออกเดินทางไปท่องเที่ยวและกลับไปยังภูมิลำเนาพื้นที่ต่างๆ และบางส่วนได้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้จัดงาน หน่วยงานได้มีการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าร่วมงาน และเมื่อพี่น้องประชาชนเดินทางกลับมายังบ้านพักก็ได้มีการใช้ชุดตรวจ ATK ในการตรวจด้วยตนเอง และตรวจสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้เกิดขยะจาก ATK และขยะจากอุปกรณ์ป้องกันโรคอื่นๆ เช่น หน้ากากอนามัย ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าช่วงเวลาปกติ ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในด้านการจัดการขยะติดเชื้อจากชุดตรวจ ATK และอุปกรณ์ป้องกันโรคอื่นๆ ในช่วงเทศกาลดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการบริหารจัดการขยะเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดแหล่งแพร่ระบาดของโรค โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บและทำลายขยะติดเชื้อให้ถูกวิธีตามหลักวิชาการเพื่อไม่ให้กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดในชุมชน
...
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ได้เน้นย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และแนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกรมอนามัย และเสริมสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับหน่วยงาน/ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง (ครัวเรือน) ด้วยการคัดแยกขยะ ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) ขยะที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น เอกสารกำกับชุดตรวจ และกล่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสามารถเก็บรวบรวมทิ้งถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิด
และ 2) ขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น ตลับทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยด ไม้ Swab ถือเป็นขยะที่มีความเสี่ยงสูง ต้องแยกจัดการจากขยะทั่วไป โดยเก็บรวบรวมมูลฝอยที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น ตลับทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยด และ ไม้ Swab เป็นต้น ใส่ถุงขยะ (ถุงสีแดง) 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรกที่สัมผัสมูลฝอยติดเชื้อ ให้มัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น ใช้ฟ็อกกี้ฉีดสเปรย์สารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือไฮเตอร์ผสมน้ำ อัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70% บริเวณปากถุง แล้วมัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และใช้ฟ็อกกี้ฉีดสเปรย์สารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะ และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที พร้อมทั้งประสานไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการเก็บ ขน มูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นำมูลฝอย ATK ขนย้ายไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อลดความเสี่ยงกับชุมชน
“พี่น้องประชาชนทุกบ้านเรือนสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่เกิดจากชุดตรวจ ATK ง่ายๆ ด้วยตนเอง โดยแยกขยะ ออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) ขยะที่ไม่ได้ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น เอกสารกำกับชุดตรวจ และกล่องบรรจุภัณฑ์ สามารถทิ้งถังขยะทั่วไป และขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ทั้งตลับทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยด ไม้ Swab ให้นำใส่ขวดน้ำที่ภายในใส่สารฆ่าเชื้อ เช่น ไฮเตอร์ผสมน้ำ อัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ล้างแผล ปิดฝาให้มิดชิด หรือใส่ถุงขยะสีแดงรัดเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อให้ทั่วทั้งถุง ก่อนจะให้ถุงซ้อนอีกชั้นหนึ่งและมัดปากถุง ฉีดพ่นสารฆ่าเชื้ออีกครั้งหนึ่ง และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที ก่อนจะนำไปทิ้งให้หน่วยงานมาจัดเก็บขยะไปกำจัดต่อไป ซึ่งเมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการตั้งแต่บ้านเรือนของเราแล้ว การจัดการขยะในขั้นตอนต่อไปก็จะสามารถจัดเก็บและทำลายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดจากขยะ ATK ทำให้สิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตดี และเป็นการช่วยกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยตัวเราเองด้วย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม.