ศาลอาญามีคำสั่งรอการกำหนดโทษ 2 ปี "สมาร์ท" นักศึกษา มธ.ร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา แม้พฤติการณ์ผู้ต้องหาจะทำผิดแต่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง อีกทั้งมีอายุน้อยเป็นนักศึกษา เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคดี

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ศาลอาญามีคำสั่งรอการกำหนดโทษ นายภัทรพงศ์ น้อยผาง หรือ สมาร์ท นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นเวลา 2 ปี จากกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจากการร่วมการชุมนุมที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, รุ้ง ปนัสยา, จัสติน ชูเกียรติ แสงวงค์ และ แอมมี่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น

ศาลพิเคราะห์ว่าในวันเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์เข้าร่วมการชุมนุมกับประชาชนประมาณสองถึงสามร้อยคนที่หน้าศาลอาญา โดยผู้ถูกกล่าวหาอ่านบทกวีถึงมหาตุลาการ ผ่านทางเครื่องขยายเสียง โดยที่ตั้งลำโพงหันหน้าเข้าไปในศาลอาญา ต่อมาเมื่อ เบนจา อะปัญ ฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ขึ้นไปบนบันไดหน้ามุกศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าไปในแนวกั้นด้วย ระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหากับผู้ชุมนุมรวมตัวกันในศาลอาญา รองผู้กำกับฝ่ายสืบสวนสอบสวน สน.พหลโยธิน และผู้กำกับ สน.พหลโยธิน ได้เข้ามาอ่านประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องการห้ามทำกิจกรรมรวมตัวในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และข้อกำหนดเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และขอให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบและให้ยุติการชุมนุม ทว่าทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้ชุมนุมต่างเพิกเฉย และยังคงทำกิจกรรมโดยใช้เครื่องขยายเสียงต่อไป

จนถึงเวลาประมาณ 18.00 น. เหตุการณ์จึงสงบลง แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะนำสืบต่อสู้ว่าการกระทำของตนเป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เนื้อหาของบทกวีไม่ได้มีข้อความในลักษณะข่มขู่คุกคามต่อศาล เป็นเพียงการเรียกร้องให้ตุลาการปฏิบัติหน้าที่ไปตามทำนองคลองธรรม และการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่กระทบต่อการพิจารณาคดีของศาล เพราะได้เปิดช่องทางให้ประชาชนและข้าราชการสามารถเข้าไปในอาคารศาลได้ และประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ที่ประสงค์จะเข้าไปในอาคารศาล หากเดินผ่านผู้ชุมนุมก็จะเปิดทางให้ แต่การชุมนุมของผู้ถูกกล่าวหากับพวกก็มีลักษณะเป็นการใช้เสียงดัง ใช้เครื่องขยายเสียงในบริเวณศาล รวมถึงมีการตะโกนถ้อยคำต่างๆ เป็นระยะ เป็นการใช้เสียงรบกวนการพิจารณาคดีและสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ไม่สะดวก ให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นความผิด

...

อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหายังไม่ถือว่ามีความรุนแรงที่ผู้กล่าวหา กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าฝ่าเข้าไปด้านหลังแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ ปราฎเพียงภาพถ่ายขณะที่ผู้ถูกกล่าวหายืนอยู่บริเวณแผงกั้นทางขึ้นบันไดหน้ามุกศาลอาญา และผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่าตนเองเข้าไปในแนวกั้น เพราะเกรงว่าเบนจาจะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว แต่ไม่มีการควบคุมตัว ก็เพียงแต่เดินชูสามนิ้วออกมา ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง

เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีที่ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง และผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักศึกษายังมีอายุน้อย เห็นควรให้โอกาสในการกลับตัวเป็นคนดี จึงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้สองปี และให้คุมประพฤติผู้ถูกกล่าวหาไว้ตลอดเวลาที่รอการกำหนดโทษ และห้ามผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีก

ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่า การกระทำเดียวกันนี้ผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีในความผิดดูหมิ่นศาลด้วยจะเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนหรือไม่ เห็นว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองกระบวนพิจารณาคดี เป็นมาตรการเฉพาะ เป็นคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญา จึงไม่ถือว่าเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อน.