“สนธิรัตน์” แนะรัฐบาลพิจารณามาตรการรับมือ “โควิดสายพันธุ์โอมิครอน” ต้องรอบคอบจัดงานปีใหม่ อย่าให้ซ้ำรอยเดลตา

วันที่ 22 ธ.ค. 2564 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หรือ โอไมครอน (Omicron) ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กว่า หลายๆ ประเทศยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ระดับสูงอีกครั้ง ภายหลังมีการค้นพบการกลายพันธ์ของโอมิครอน ที่คาดกันว่าจะแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธ์อื่นๆ หลายเท่าตัว

นายสนธิรัตน์ ระบุต่อไปว่า 1-2 เดือนที่ผ่านมามีการตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย แม้ว่าในช่วงแรกหลายประเทศจะมีมาตรการในการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของประชากรในพื้นที่ระบาด แต่ดูเหมือนมาตรการเหล่านี้จะไม่สามารถสกัดโอมิครอนได้เลย อย่างข้อมูลล่าสุดของสหรัฐอเมริกา ชี้ชัดว่าปัจจุบันโอมิครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักของผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และโอมิครอนยังเป็นต้นเหตุของการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในอังกฤษและยุโรปหลายชาติด้วย

แต่ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ล่าสุดสิงคโปร์พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ของโอมิครอนภายในประเทศเป็นครั้งแรก ไม่ใช่การเดินทางมาจากต่างประเทศเหมือนที่หลายประเทศในอาเซียนตรวจพบ อย่างในกรณีของประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มมีการงัดมาตรการสกัดกั้นโควิด-19 ในอดีตกลับมาใช้อีกครั้ง โดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์ที่คาดว่าจะมีการนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้อีกครั้ง เช่นเดียวกับอังกฤษที่เริ่มมีการพิจารณามาตรการนี้เช่นกัน ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาวิงวอนให้ประเทศต่างๆ งดการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 อีกครั้ง

...

ทั้งนี้ มาตรการของหลายๆ ประเทศยังคงเน้นการขอความร่วมมือในการงดการรวมกลุ่มที่มากเกินความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ หรือการรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นหลัก ขณะเดียวกันมาตรการจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวและประชากรจากภายนอกประเทศถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางป้องกันการระบาดด้วยเช่นกัน ซึ่งบางประเทศได้นำมาตรการกักตัวกลับมาใช้อีกครั้งรวมถึงประเทศไทย แน่นอนว่าเหตุผลที่ทำให้มาตรการโควิด-19 ของหลายประเทศไม่เข้มข้นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลสำคัญมาจากการฉีดวัคซีนมีปริมาณมากขึ้น และอีกส่วนคือมาตรการที่เข้มงวดเกินไปส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ

รัฐบาลแต่ละประเทศจึงพยายามรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันโรคระบาดกับประเด็นทางเศรษฐกิจ ดังนั้น สำหรับประเทศไทยหากต้องการรับมือกับการระบาดของโอมิครอนอาจใช้บทเรียนของประเทศเหล่านี้มาใช้รับมือได้ โดยเฉพาะการจำกัดการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก

ในช่วงท้าย นายสนธิรัตน์ ระบุว่า “ข้อมูลของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่า การระบาดของโอมิครอนหลังปีใหม่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจากการยืนยันจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงปีใหม่ต่อไป รัฐบาลจึงควรพิจารณาสิ่งเหล่านี้อย่างรอบคอบ และสร้างมาตรการที่เหมาะสม ทันเวลา สอดรับสภาวะของสถานการณ์”.