- ยืน รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีข้อกำหนด "ลดโทษ" ทำได้ หรือไม่ได้ เพียงมีโยงเพิ่มในรัฐธรรมนูญมาตรา 179
- ชี้ ช่องว่างทางกฎหมาย "บุญทรง-ภูมิ" ผู้ต้องหาคดีทุจริตจำนำข้าว ลดโทษ 4 ครั้งติดต่อกัน
- ยืนยัน "จะอภัยโทษ-ลดโทษ" หรือไม่ อยู่ที่หน่วยงานและรมว.ยุติธรรม เป็นผู้ทำเรื่องเสนอขึ้นไป เป็นไปตามขั้นตอนและเงื่อนไข ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กับคำถามคอการเมือง หลายคนอาจสงสัย กระทรวงยุติธรรม ที่นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่มีการดำเนินการลักษณะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ หรือช่วยเหลือนักโทษคดีทุจริตให้ได้รับการลดโทษจริงหรือไม่?

ในที่นี้ โดยเฉพาะนักโทษคดีทุจริตจำนำข้าว ซึ่งว่ากันว่าทำความเสียหายให้ประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ จำนวนหลายแสนล้านบาท

...
อย่างไรก็ตาม นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวยื่นร้องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กับพวก กรณีเสนอลดโทษชั้นเยี่ยมให้แก่นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าว ว่า ผิดกฎหมายอื่นใด หรือผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า การกระทำของนายสมศักดิ์กับพวกส่อว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริง มีการใช้กลไกทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ดำเนินการบริหารโทษ (ลดโทษ) กับบุคคลที่ได้รับการลงโทษตามคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว ดังนี้

1.นายภูมิ สาระผล จากโทษจำคุก 36 ปี ล่าสุดเหลือวันต้องโทษ 8 ปี 2.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กำหนดโทษจำคุก 48 ปี เหลือวันต้องโทษ 10 ปี 3.นายมนัส สร้อยพลอย กำหนดโทษจำคุก 40 ปี เหลือวันต้องโทษ 8 ปี 4.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) กำหนดโทษ 48 ปี เหลือวันต้องโทษ 6 ปี 3 เดือน
ประกอบกับการที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีต รมว.ยุติธรรม ประกาศหลักการเมื่อปี 2559 ห้ามเสนอการขอพระราชทานอภัยโทษในความผิดฐานทุจริต ข่มขืนกระทำชำเรา และยาเสพติด และขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐนั้น

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสอบถามข้อสงสัย ลดโทษคดีทุจริตของกรมราชทัณฑ์ ตกลงทำได้จริงหรือไม่ ทำแล้วผิดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ลองไปดูกันได้เลย
ชี้ชัด รัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อกำหนด "ลดโทษ" ทำได้หรือไม่ได้ เพียงมีโยงเพิ่มใน รธน.มาตรา 179
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า เรื่องการลดโทษนักโทษคดีทุจริต ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีการกำหนดว่า ให้ทำได้ หรือทำไม่ได้ เพราะมันเป็นเพียงการโยงเพิ่มในรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ที่บัญญัติไว้ว่า…พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการพระราชทานอภัยโทษเท่านั้น
"อันนี้จึงต้องไปขึ้นกับฝ่ายบริหารจะเป็นผู้ดำเนินการจนสำเร็จ จากการแบ่งชั้นนักโทษ เมื่อก่อนมี 6 ชั้น แต่อันใหม่ล่าสุดแบ่งชั้นนักโทษเหลือเพียง 4 ชั้นเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวผมก็ไม่ทราบว่าต้องมีข้อกำหนดการลดโทษเป็นเช่นไร จนเกิดกรณีของ คุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ คุณภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกิดขึ้น จนเป็นปัญหาการเมืองในขณะนี้ ทั้งนี้ การจะลดโทษ ก็อาจมีการลดโทษหลังติดคุก 3 ปี หรือ 5 ปี ก็จะมีการลดโทษให้นักโทษที่เข้าเกณฑ์สักครั้งหนึ่ง มีเกณฑ์กำหนดอยู่แล้ว หรืออาจมีการพักโทษ ซึ่งปีหนึ่งมีนักโทษในเรือนจำเข้าเกณฑ์นับหมื่นนับแสนคน หากทำตามลำดับขั้นตอนก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร" รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว...

ชี้ ช่องว่างทางกฎหมาย "บุญทรง-ภูมิ" ผู้ต้องหาคดีทุจริตจำนำข้าว ลดโทษ 4 ครั้งติดต่อกัน
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวต่อว่า แต่กรณี นายบุญทรง กับ นายภูมิ ที่มีการลดโทษถึง 4 ครั้งติดต่อกัน ไม่ทราบหลักปฏิบัติกันจริง ไม่มีเกณฑ์ที่เคยเห็น ในทางปฏิบัติในต่างประเทศเองก็ยังไม่พบอีกเช่นกันว่าที่การกระทำแบบนี้ ส่วนเกณฑ์แท้จริงเป็นอย่างไรก็ไม่เคยเห็น เกณฑ์ใหม่ล่าสุดเป็นอย่างไร ก็ยังไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดไว้ อันนี้นับเป็นช่องว่างทางกฎหมาย

ยืนยัน ยังไม่เคยพบ มีการดำเนินการในลักษณะนี้ในอดีต รวมถึงในต่างประเทศ ก็ไม่มี
อดีตกรรมการร่าง รธน. กล่าวอีกว่า หากย้อนกลับไปดู พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเอง ก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องติดนานเท่าไร ยืนยันกรณีนี้เป็นเพียงการโยงมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 179 เท่านั้น

ร้อง ป.ป.ช.ตรวจสอบทุจริต "รมว.ยุติธรรม-อธิบดีกรมราชทัณฑ์" สามารถทำได้
"ส่วนที่มีผู้ไปร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ รมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตรวจสอบว่าทุจริตหรือไม่ ก็สามารถไปยื่น ป.ป.ช.ให้ทำการตรวจสอบว่า รมว.ยุติธรรม หรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ มีการทุจริตเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ได้" อดีตกรรมการร่างรธน. กล่าว...
ขณะที่เมื่อวาน (20 ธ.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้ออกมายืนยันว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการไม่เคยเสนอการพักโทษให้กับผู้ต้องขังสำคัญคดีจำนำข้าว คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายภูมิ สาระผล นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร และนายมนัส สร้อยพลอย แต่อย่างใด ทุกคนยังอยู่ในเรือนจำ ผมให้อำนาจและความอิสระในการทำงาน ส่วนการพิจารณาลดวันลงโทษและพักโทษ คณะกรรมการทุกท่านและข้าราชการทุกคนทำงานโดยอิสระ ไม่เคยมีการกำหนดนักโทษวีไอพี หรือให้สิทธิในการลดโทษ พักโทษเป็นพิเศษกับใครทั้งสิ้น

"ตนจะพูดเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ในสมัยตนมีทั้งหมด 4 ครั้ง การดำเนินการเป็นอำนาจของข้าราชการ ฝ่ายการเมืองไม่ได้เข้าไปยุ่ง ยืนยันว่าทำทุกอย่างถูกกฎหมาย และทำตามที่กฎหมายให้ทำได้" รมว.ยุติธรรม กล่าว

ขณะ "นิด้าโพล" แสดงถึงความเห็นของประชาชนต่อการลดโทษแก่นักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.04 ระบุว่า ไม่ควรลดโทษ รองลงมาร้อยละ 26.27 เห็นว่า ควรต้องได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงมีสิทธิได้รับการลดโทษ และร้อยละ 22.02 เห็นว่า ควรลดโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
งานนี้ต้องจับตา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กับพวก ที่เสนอเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2564 รวม 4 ครั้ง ผลสุดท้ายจะเป็นเช่นไร.
ผู้เขียน : เดชจิวยี่