(แฟ้มภาพ)

ศบค. เผยข้อปฏิบัติร่วมงาน “สวดมนต์ข้ามปี” จัดได้แต่ต้องเคร่งมาตรการ ด้าน ททท. เสนอ 5 จังหวัดเป็นพื้นที่หลักจัดเคาต์ดาวน์

วันที่ 13 ธ.ค. 2564 ภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงในช่วงหนึ่งถึงการจัดงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ศบค. โดยจะมีการจัดงานเคาต์ดาวน์ในพื้นที่หลัก 5 จังหวัด ดังนี้

  • จ.เชียงใหม่ ที่หอคำหลวง อุทยานราชพฤกษ์
  • จ.นครราชสีมา หน้าศาลากลางจังหวัด
  • จ.ระยอง หาดแสงจันทร์
  • จ.พระนครศรีอยุธยา วัดพระราม
  • จ.ภูเก็ต หาดปลายแหลมสะพานหิน

ส่วนการจัดงานในพื้นที่อื่นๆ รวม 44 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคใต้ 8 จังหวัด

พร้อมกันนี้ มีกำหนดช่วงเวลาในการจัดงานคือ วันที่ 27-30 ธ.ค. 2564 เวลา 16.00-22.00 น. และวันที่ 31 ธ.ค. 2564 เวลา 16.00-00.30 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2565 พร้อมระบุว่าการจำหน่ายสินค้าและอาหารพื้นถิ่นในงานจะต้องไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงมาตรการต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติด้วย

...

โฆษก ศบค. ระบุต่อไปถึงการสวดมนต์ข้ามปี อาทิ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ จะมีการจัดกิจกรรมในช่วงเวลา 22.30 น. ของคืนวันที่ 31 ธ.ค. ส่วนที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง จัดกิจกรรมในเวลา 23.30 น. วันที่ 31 ธ.ค. และเวลา 07.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2565 จะเป็นการทำบุญตักบาตรรับปีใหม่ นอกจากนี้ ในส่วนของภูมิภาคก็มีการจัดสวดมนต์ข้ามปีเช่นกัน อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง และมีกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นใน 3 ภูมิภาค ภาคเหนือ จ.เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม มีการเสนอมาตรการหลักและมาตรเสริม

มาตรการหลัก

  • จัดให้มีจุดคัดกรองและการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้จัดและผู้เข้าร่วมงาน
  • จัดกิจกรรมในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ตลอดจนทำความสะอาดโดยการเช็ดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนและหลังการจัดกิจกรรม
  • จัดให้มีจุดให้บริการแอลกอฮอล์เจลบริเวณจุดเข้างาน ตลอดตามจุดต่างๆ รอบบริเวณงาน
  • ผู้จัดงานและผู้ประกอบพิธีต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
  • ประสานความร่วมมือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ร่วมดำเนินการในกิจกรรมนั้นๆ ด้วย
  • ให้ผู้เข้าร่วมงานสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • ผู้เข้าร่วมงานมีระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า 1-2 เมตรรอบด้าน อย่างเคร่งครัด

มาตรการเสริม ด้านผู้ร่วมงานปลอดภัย

  • ผู้เข้าร่วมงานที่ผ่านการคัดกรองเข้าร่วมกิจกรรมตามจุดที่กำหนด มีระยะห่าง 1-2 เมตร รอบด้าน
  • ผู้เข้าร่วมงานต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือมีผลตรวจ ATK เป็นผลลบภายใน 72 ชั่วโมง
  • ผู้ที่มีอาการ เช่น ตัวร้อน ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเนื้อปวดตัว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก ให้งดเข้าร่วมกิจครรม
  • งดคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ร่วมงานอื่นๆ ที่ไม่มีการป้องกันตนเอง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรเข้าร่วมกิจกรรม หรืออาจพิจารณาเข้าร่วมกิจกรรมการสวดมนต์ออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • ประชาชนทุกช่วงอายุสามารถเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

มาตรการเสริม ด้านผู้จัดงานและผู้ประกอบพิธีปลอดภัย

  • จัดให้มีจุดบริการแอลกอฮอล์เจลล้างมือด้วยตนเอง
  • จัดทำทะเบียนรายชื่อผู้เข้าร่วมงานผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะ หากมีผู้ติดเชื้อภายในงานให้ส่งรายชื่อผู้ร่วมงานให้กระทรวงสาธารณสุข
  • เตรียมแผนหรือขั้นตอนการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อโรคโควิด-19 ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
  • ติดสัญลักษณ์ในจุดยืน จุดที่นั่ง ให้มีระยะห่างระหว่างกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร ในบริเวณที่มีการปฏิบัติงานทุกจุด สำหรับผู้จัดงาน
  • จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานตามขนาดของพื้นที่ตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

มาตรการเสริม ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย

  • ทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนการจัดงานและหลังการจัดงาน โดยเฉพาะพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนการจัดกิจกรรม
  • จัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยที่มีฝาปิดมิดชิดเพียงพอ มีการคัดแยกประเภทมูลฝอย และทำการกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลทุกวัน
  • ติดสัญลักษณ์เพื่อกำหนดจุดรอคิว จุดรอเข้าบริเวณการจัดงาน จุดรอคิวเข้าห้องสุขา และจุดคัดกรองหรือบริเวณอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร