โฆษกพรรคกล้า ชี้ จนท.สลายการชุมนุม "จะนะรักษ์ถิ่น" แม้อ้างทำตามกฎหมาย แต่ไม่มีหัวใจ ย้ำ เจ้าหน้าที่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเหมาะสม ถึงเวลาแก้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ คุ้มครองสิทธิผู้ชุมนุม
วันที่ 7 ธ.ค. 2564 นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) สลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หน้าประตู 1 ทำเนียบรัฐบาลเมื่อคืนนี้ (6 ธ.ค. 64) ว่า แม้โฆษกรัฐบาลบอกว่าเจ้าหน้าที่ทำตามหน้าที่ ส่วนกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ บช.น. พยายามให้เหตุผลว่าชาวบ้านผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งการระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 แทนที่เจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนอย่างเหมาะสม แต่กลับเลือกที่จะบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมตัวประชาชนที่มาชุมนุมเพราะความเดือดร้อนจากโครงการของรัฐ
"ชาวบ้านเขามาชุมนุมไม่มีเรื่องการจาบจ้วง ไม่มีการหวังผลทางการเมือง แต่มาชุมนุมเพราะความเดือดร้อนจริงๆ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าโครงการอาจจะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เมื่อโครงการทำท่าว่าจะดำเนินการต่อ จึงมาชุมนุมทวงถามความชัดเจนจากนายกรัฐมนตรี แทนที่จะมีตัวแทนมาพูดคุยรับฟัง หรือเชิญตัวแทนเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือหาทางออก แต่กลับสลายการชุมนุม ควบคุมตัวประชาชน แม้จะเป็นการบังคับใช้กฎหมายก็จริง แต่ไม่มีหัวใจ" นายแสนยากรณ์ กล่าว
โฆษกพรรคกล้า กล่าวต่อว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะมีผลดีผลเสียอย่างไร ก็ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้อง ทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การทำประชาพิจารณ์อย่างทั่วถึงจริงๆ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่กังวล ส่วนเรื่องการชุมนุมของประชาชนที่เดือดร้อน โดยเฉพาะจากการกระทำของรัฐ หรือเรื่องปากท้อง ขอให้บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเหมาะสม หากจ้องแต่จะบังคับใช้หรือดำเนินคดีเพียงอย่างเดียว สุดท้ายรัฐบาลคงเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนไม่ได้ และถึงเวลาพูดคุยถึงการแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพราะมีหลายเงื่อนไขไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติจริง จนกลายเป็นลิดรอนสิทธิของผู้ชุมนุม จึงควรแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เพื่อให้ประชาชนที่มาชุมนุมเพราะความเดือดร้อนได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเหมาะสม.
...