"พรุ่งนี้เพื่อช้างไทย" เพื่อไทย ร้องรัฐ ช่วยฟื้นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ต่อลมหายใจช้างตกงาน กมธ.ที่ดินฯ ชง 6 ข้อเสนอถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

วันที่ 7 ธ.ค. 64 นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ส.ส.สุรินทร์ โฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ได้เข้าพูดคุยรับฟังปัญหาผลกระทบด้านการท่องเที่ยวปางช้าง กับนายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย ผู้จัดการทั่วไปวังช้างอยุธยา แล เพนียด และเลขาธิการมูลนิธิพระคชบาล ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดปางช้างในช่วงล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 ที่ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก

นายนพ กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ในรอบเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ช้าง ควาญช้างและปางช้าง ได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส อย่างปางช้างอยุธยาได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปทั้งหมด แม้ในขณะนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวไทยกลับเข้ามาบ้างแล้ว แต่รายได้ยังไม่พอกับรายจ่ายที่ต้องดูแลช้างและควาญช้าง รวมแล้วอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อเดือน ผู้ประกอบการเริ่มเหน็ดเหนื่อยกับการทำปางช้างเต็มที ซ้ำยังมีความกังวลกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการต่างๆ อาจทำให้ธุรกิจปางช้าง รวมถึงคนเลี้ยงช้างหมดที่ยืนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สร้างคุณค่า สร้างรายได้ให้กับประเทศ

...

นายคุณากร กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการดูแลและบริหารจัดการช้างไทยเรื้อรังมานาน ทั้งที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ควรได้รับการดูแลและให้ความสำคัญ แต่ขณะนี้พบว่าช้างถูกตีราคาโดยการประเมินกันเองตามความพึงพอใจของคนในวงการช้าง ไม่มีราคากลาง ซึ่งในข้อเท็จจริงผู้ที่เกี่ยวข้องควรประเมินราคาจากข้อกฎหมายหลายด้าน เพื่อให้คุณค่ากับช้างมากกว่านี้ ไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์เพื่อใช้ในการพาหนะ แต่เป็นสัตว์ที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศในสายตาชาวโลกด้วย

ส่วนการช่วยเหลือช้าง ปางช้าง และควาญช้าง นายคุณากร กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงช้าง ซึ่งออกมาเมื่อปีที่แล้วเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำกลับมาช่วยเหลือผู้เลี้ยงช้างอีกครั้ง โดยเป็นการนำตั๋วรูปพรรณช้างมาวางที่ ธ.ก.ส.เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 แต่โครงการนี้ออกมาได้เพียง 3 เดือน แล้วปิดโครงการไป พร้อมทั้งขอให้นำโครงการนี้ขยายพื้นที่ช่วยเหลือผู้เลี้ยงช้างในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย เช่น เชียงใหม่ ลำปาง สุรินทร์ ชลบุรี เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกและทางรอดในการต่อลมหายใจให้ปางช้างได้กลับมาเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง

นายคุณากร กล่าวอีกว่า ในฐานะโฆษก กมธ.ที่ดินฯ ได้เชิญควาญช้างและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดย กมธ.ได้ทำ 6 ข้อเสนอเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบช้างตกงาน ได้แก่

1.จัดหาที่ดิน เช่น ป่าชุมชน หรือป่าเสื่อมโทรมให้ช้างอยู่ชั่วคราว รวมทั้งให้เช่าที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลูกอาหารสำหรับช้าง

2.ทำใบเคลื่อนย้ายช้าง กรณีช้างตกงานอพยพจากพื้นที่ธุรกิจท่องเที่ยวกลับคืนถิ่นฐาน

3.เร่งรัดการจดทะเบียนตั๋วรูปพรรณลูกช้างเกิดใหม่ป้องกันช้างเถื่อน

4.ทบทวนการลดหย่อนภาษีให้กับภาคเอกชน เช่น องค์กรทางธุรกิจ และมูลนิธิต่างๆ ที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือและดูแลช้างตกงาน

5.ขอให้กรมปศุสัตว์จัดตั้งทีมหมอช้างให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีช้าง จัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยไว้ดูแลช้างในยามฉุกเฉิน

และ 6.ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการสำหรับเสนอของงบประมาณที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาช้างตกงาน

โดยข้อเสนอทั้งหมด กมธ. ที่ดินฯ ได้ทำหน้งสือด่วนที่สุดถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับการเหลียวแลจากพลเอกประยุทธ์ให้เร่งแก้ปัญหาช้างและควาญช้างตกงานอย่างเร่งด่วนด้วย

ทั้งนี้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายนพ นายคุณากร นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และนางสาวชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมขี่ช้างในวังช้างอยุธยา แล เพนียด เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนในวังช้างอยุธยา แล เพนียด ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัย เปิดให้บริการท่องเที่ยวชมเมืองเก่าอยุธยาแล้ว ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.