รมว.ศึกษาธิการ เผยคืบหน้าฉีดวัคซีนนักเรียนแล้วกว่า 2.8 ล้านคน ขณะที่ 15 พ.ย.นี้ มีโรงเรียนเตรียมเปิดเรียนแบบออนไซต์เพิ่มอีก หลังเปิดเทอม 3 วัน ยังไร้ข้อมูลนักเรียนเสี่ยงติดเชื้อโควิด
วันที่ 4 พ.ย. 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ศธ. รายงานภาพรวมการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นห่วงว่าเมื่อเปิดเรียนแล้วพบปัญหาอุปสรรคหรือไม่ โดยรายงานว่าขณะนี้มีนักเรียนอายุ 12-18 ปี ได้รับวัคซีนโควิด-19 กว่า 2.8 ล้านคนแล้ว ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับวัคซีนเข็มแรกกว่า 90% และเข็มที่ 2 กว่า 60%
ทั้งนี้ ยังมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนประมาณ 87,000 คน ขณะนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำความเข้าใจ และฉีดวัคซีนให้ครูที่ยังไม่ได้รับวัคซีนต่อไป คาดว่าภายในเดือนนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกครบทุกคน และปัจจุบันมีผู้ปกครองยื่นความประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ 3.8 ล้านคน จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน เนื่องจากเห็นเพื่อนฉีดแล้วไม่มีผลข้างเคียง หรือไม่มีผลกระทบอะไร จึงเกิดความมั่นใจแล้วยื่นประสงค์ขอรับวัคซีนเพิ่มเติม โดย พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้ ศธ. ประชาสัมพันธ์ว่ามีความพร้อมในการเปิดภาคเรียนรูปแบบออนไซต์ (On-Site) แล้ว
“จากข้อมูลที่รับรายงาน พบว่ามีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ เปิดเรียนรูปแบบออนไซต์ ประมาณ 12,000 แห่ง ซึ่งในวันที่ 15 พ.ย.นี้ จะมีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนสังกัดอื่นๆ เปิดเรียนออนไซต์เพิ่มมากขึ้น ศธ. เชื่อว่าประชาชนจะมีความเชื่อมั่นในการเปิดเรียนมากขึ้น เพราะเน้นย้ำให้โรงเรียนเข้มงวดมาตรการ 6-6-7 โดยยึด 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้ม อย่างไรก็ตาม แผนเผชิญเหตุก็มีส่วนสำคัญ หากโรงเรียนในพื้นที่ไหนมีความสุ่มเสี่ยงให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่กำหนดไว้ทันที โดยสาธารณสุขจะเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนการเปิดเรียน 3 วันที่ผ่านมา ดิฉันยังไม่มีข้อมูลนักเรียนเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด”
นอกจากนี้ในส่วนของเงินเยียวยานักศึกษาระดับปริญญาตรี สถาบันการอาชีวศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ตกหล่นจากโครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครองนักเรียนและนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขณะนี้ ศธ.เร่งดำเนินการเรื่องนี้อยู่ โดย ครม.รับทราบหลักการเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตามจะเร่งรัดเรื่องนี้เพื่อให้นักศึกษาได้รับการเยียวยาให้เร็วที่สุด.
...