น้ำท่วมปีนี้ไม่รุนแรงเท่ากับ “มหาอุทกภัย” 2554 เมื่อสิบปีก่อน ส่วนมากท่วมบ้านเรือน ที่ถนน ที่นา ไม่ได้ท่วมโรงงานอุตสาหกรรม หรือไม่ท่วมกรุงเทพฯ เหมือนปี 2554 ภาคที่โดนหนักที่สุดน่าจะได้แก่ภาคอีสาน รองลงมาได้แก่จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง เสียหายมากที่สุดคือภาคอีสาน
ข้อมูลของทางการในช่วงที่น้ำท่วมค่อนข้างหนัก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ระบุว่า น้ำท่วม 32 จังหวัด 201 อำเภอ 1,046 ตำบล และ 7,144 หมู่บ้าน 11 เขตเทศบาล ส่งผลกระทบประชาชน 271,092 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ท่วมที่นา ส่วนตัวเมืองที่โดนจังๆ ได้แก่ ชัยภูมิและนครราชสีมา แต่ช่วงเวลาสั้นๆ
แต่น้ำท่วมปีนี้ ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.พรรครัฐบาล ได้ปฏิบัติการ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” แข่งกัน เพื่อวัดบารมีทางการเมือง ใครมี ส.ส.ตามแห่มากกว่า เหมือนนายกรัฐมนตรีจะเป็นฝ่ายแพ้ต่อรองนายกรัฐมนตรี
ไม่ทราบว่าขบวนช้างเหยียบนา จะแก้ปัญหาและความเดือดร้อนของชาวบ้านในด้านใดบ้าง และได้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไร นอกจากการเดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ นายกรัฐมนตรีแนะนำชาวบ้านให้ร่วมกันสวดมนต์เพื่อขับไล่พายุ แต่อาจจะไม่เห็นชาวนาหลายรายหลั่งน้ำตาร้องไห้ผ่านจอทีวี
ชาวนาที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด จากการติดตามข่าวสื่อมวลชนน่าจะได้แก่ภาคอีสาน เช่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี เป็นต้น ที่เห็นชาวนาร้องไห้ เพราะน้ำท่วมนาที่ข้าวเพิ่งออกรวง ยังไม่พอที่จะเก็บเกี่ยว ต้องระดมลงแขกช่วยกันเกี่ยวข้าว หรือปล่อยให้ข้าวเน่า
อีสานเป็นภาคที่มีระบบชลประทานน้อยที่สุด มีเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชาวนาเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิใหญ่ที่สุดแต่ชาวนาส่วนใหญ่ต้องพึ่งฝนฟ้าจากเทวดา ปีไหนฝนดีชาวนายิ้มได้ ปีไหนฝนแล้ง หรือน้ำท่วม ชาวนาหลายคนต้องร้องไห้ เพราะส่วนใหญ่ทำนาหนเดียว บางปีไม่ได้ เพราะฝนแล้งหรือน้ำท่วม แก้ตัวไม่ได้
...
เนื่องจากไม่มีระบบชลประทานจึงไม่สามารถจะทำนาปีละ 2 หน เหมือนกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะแม้นาจะล่มเพราะน้ำท่วม นาปีเสียหาย ก็ยังมีความหวังจะทำ นาปรังในฤดูแล้ง ส่วนภาคอีสานถ้านาล่ม ต้องรอฝนในปีต่อไป นักวิชาการบางคนบอกว่าน้ำท่วมและภัยแล้ว คือเครื่องวัดความสามารถในการบริหารน้ำของรัฐบาล.