งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ฤดูเลี้ยงอำลาเกษียณ
ต้นเดือนตุลาคม ห้วงเวลาเริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งใหม่ หน่วยงานใหม่ หน้าที่ใหม่ โดยเฉพาะหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจที่เปลี่ยนแปลงตามวาระ
คนเก่าไป คนใหม่มา แต่จังหวะสถานการณ์ปีนี้งานเลี้ยงน่าจะกร่อยไปหน่อย เพราะต้องเจอกับปรากฏการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดจากหางพายุ “เตี้ยนหมู่” เกิดอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
ข้าราชการทั้งคนเก่า คนใหม่ ต้องปักหลักช่วยผู้ประสบภัย
โดยเฉพาะการที่ผู้นำอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม นำคณะชุดใหญ่เดินสายลงพื้นที่ ลุยน้ำ บุกโคลน สัมผัสความเดือดร้อนของประชาชน
บุกไปเผชิญปัญหาน้ำท่วมหน้างานแบบถึงลูก ถึงคน
โปรแกรมต่อเนื่องไล่ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท ชลบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ชัยภูมิ และอีกหลายจังหวัดที่ทีมงานผู้นำจัดคิวเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
เป็นภารกิจเร่งด่วนของฝ่ายบริหารที่ต้องทันต่อสถานการณ์
แม้จะแทรกด้วยกระแสร้อนๆ อาการปั่นป่วนภายในพรรคพลังประชารัฐ แกนนำหลักพรรคร่วมรัฐบาลที่เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องจากศึกกบฏจ้องโค่นกระดาน พล.อ.ประยุทธ์
ถึงจุดที่ถูกมองว่า เป็นการชิงเหลี่ยม วัดพลังกันเองในขุมข่าย 3 ป.
“น้ำอุทกภัย” เจือ “น้ำการเมือง”
ตามท้องเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ กับ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็จัดคิวลงพื้นที่ เหมือนเจาะจงจังหวัดของ ส.ส.ที่สวามิภักดิ์ในเกมปราบกบฏก่อน ไม่ว่าชัยนาท ชลบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ชัยภูมิ
...
และเลี่ยงที่จะจัดคิวชนกับทีมของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่นำทีมลงจังหวัดที่เป็นเขตอิทธิพลของทีมงานสายตรง อย่างเช่นนครราชสีมา พื้นที่ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล
เหมือนไม่ต้องการให้เกิดภาพการวัดพลัง แต่ก็ยังจัดคิวประชันกัน
มันตอกย้ำร่องรอยร้าวๆภายในค่ายพลังประ ชารัฐ สั่นสะเทือนสัมพันธภาพ 3 ป. ปรากฏการณ์การแยกวงของพี่ใหญ่ พี่รอง น้องเล็ก ที่ไปกันคนละวง
ท่ามกลางความไม่แน่นอนในภาวะความมั่นคงของรัฐบาล 3 ป.
มันจึงไม่แปลก ถ้าจะมีการประเมินการเร่ง ลงพื้นที่ คลุกฝุ่น ลุยโคลน ของผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ มันคือจุดที่ตีความตามสัญญาณไฟต์บังคับ
ใกล้เวลาพับฐาน ยุบสภาเลือกตั้ง
อาการนักเลือกตั้งอาชีพจมูกไวได้กลิ่น ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ชิงตีกันดักทางการใช้อำนาจของผู้นำในการเดินสายต่างจังหวัด ช่วยน้ำท่วม แต่อีกนัยก็เป็นการเอาเปรียบทางการเมือง ใช้งบประมาณแผ่นดินมัดจำแต้มหาเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า
ไม่เว้นแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยก็ต้องขยับตาม “บิ๊กตู่” และทีมพลังประชารัฐ เดินสายกลับพื้นที่ต่างจังหวัดไปตีปี๊บผลงาน รายงานตัวกับประชาชน
กลัวตกขบวน ตั้งหลักรับเกมล้มกระดานไม่ทัน
ที่สำคัญ ตามปรากฏการณ์ที่แกะรอยตามได้ กระทรวงเงิน กระทรวงทอง ในโควตาพรรคร่วมรัฐบาล มีการกดปุ่มเปิดประมูลสารพัดเมกะโปรเจกต์ เร่งเคลียร์ปมสัญญาสัมปทานทั้งโครง การรถไฟฟ้าสายสีเขียว การประมูลสายสีส้ม รวมไปถึงการเร่งคิวต่อสัญญาสัมปทาน
โครงการบริหารจัดการท่อส่งน้ำภาคตะวันออก
บ่งบอกถึงการระดมกระสุนดินดำเข้าคลังแสง เตรียมเลือกตั้ง
ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์แตกแยก อาฟเตอร์ช็อกภายในพรรคพลังประชารัฐคือจุดพลิกผันสำคัญ
สัญชาตญาณนักเลือกตั้งอาชีพ ทุกป้อมค่ายต้องพร้อมลงสนาม
ที่แน่ๆเลยจับอาการของผู้นำ ประเมินอารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ลุยโคลน คลุกฝุ่น เปลี่ยนจากคนที่เกลียดนักการเมืองอาชีพเข้าไส้ มาเกลือกกลั้วการเมืองเต็มตัว
นั่นก็ชัวร์ยิ่งกว่าชัวร์ “บิ๊กตู่” ไปต่อแน่ พันเปอร์เซ็นต์
แต่เส้นทางไปต่อยังเป็นเครื่องหมายคำถาม เพราะตามพิมพ์เขียว “บทเฉพาะกาล” รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่วางกันไว้มันไม่ง่ายอย่างที่กะเกณฑ์เล็งไว้
ผลจากการ “ขบเหลี่ยม” ขัดลำกล้องกันเองในหมู่อำนาจ 3 ป.
ต่อเนื่องจากศึกปราบกบฏ พปชร. โดยยุทธการยึดค่ายพลังประชารัฐเป็นฐานรองรับอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ในสภา ยังมองไม่เห็นทางง่ายๆ
มันยังเป็น “มิชชันอิมพอสซิเบิล” ที่ “น้องเล็ก” จะกล้าจัดการเคลียร์ “พี่ใหญ่”
และนั่นก็แบบที่เห็น “ผู้กองนัส” ยังสวม “หนังเสือ” เป็นลมใต้ปีก พล.อ.ประวิตร ล็อกอำนาจการบริหารจัดการภายในค่ายพลังประชารัฐ แบบที่ชิงประกาศให้ ส.ส.ลงพื้นที่หาเสียง
กระแสตกตามผลงานผู้นำรัฐบาล เป็นรองคู่แข่งอย่างทีมก้าวไกล
“ผู้กองนัส” ชิงเคลมบทพ่อบ้านใหญ่ โชว์อิทธิฤทธิ์ในการจัดการกองทัพลิงพลังประชารัฐ คุมคิวการจัดคนลงสมัคร ส.ส. บีบให้พวกสวามิภักดิ์ “บิ๊กตู่” กลับมาเข้าแถวรายงานตัวกับทีม “บิ๊กป้อม”
และเดาทางได้ “ผู้กองนัส” คงไม่ยอมชูชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ในบัญชี พปชร.แน่
ตามเงื่อนไขสถานการณ์ระหว่างทีมสวามิภักดิ์ “บิ๊กตู่” กับสายตรงทีม “บิ๊กป้อม” ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมหลบให้กัน แนวโน้มรอแค่วันแตกหัก แยกทางใครทางมัน
รักผูกพันกันแค่ไหน ก็มีวาระ “กรรม” เป็นตัวกำหนด
และใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้ หากถึงจุดต้องหักดิบกัน ในมุมที่นักวิเคราะห์การเมืองยังให้น้ำหนักเป็นต่ออยู่ที่ “บิ๊กตู่” ยังถือไพ่แต้มเหนือกว่าในมือ
ทั้งอำนาจรัฐ แรงดึงดูดทุน และปาฏิหาริย์แห่งอำนาจ
โดยเฉพาะ “มุกเด็ด” ที่ไม่อาจมองข้ามได้ ในอารมณ์ “เผาบ้านทิ้ง” ในเมื่อเจรจากันดีๆ ฝ่าย “พี่ใหญ่” และทีมกบฏไม่ยอมให้ยึดค่ายพลังประชารัฐ
ให้ไปไล่ดูคดีร้องยุบพรรค พปชร.ที่ค้างอยู่ในสารบบให้ดี
ในทางการเมืองเรื่องของเกมอำนาจ อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าจะเล่นกันให้เข้าเหลี่ยมเกมเขย่า ส.ส.พลังประชารัฐย้ายไปสังกัดค่ายใหม่ของ “เสี่ยฉิ่ง”
ที่ตามรูปการณ์เปิดตัวแล้วยัง “นิ่ง” ออกตัวช้าส่อเร่งเครื่องไม่ทัน
ลำพังแค่ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เพื่อนรักร่วมรุ่น ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ อดีตแกนหลักสายปักษ์ใต้ของพรรคพลังประชารัฐ เล่นบทเป็นคน “ตีปี๊บ” โหมโรงพรรค “เศรษฐกิจไทย”
ประกาศนำทีมแหกค่ายพลังประชารัฐไปปักหลักกับพรรคของ “เสี่ยฉิ่ง”
มันก็ยังไม่อลังการงานสร้างสมกับสถานะ “ป้อมค่ายหลัก” ที่ตั้งขึ้นมารองรับอำนาจพี่น้อง
2 ป. อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อนุพงษ์
และแน่นอน ถ้าพรรค “ฉ.ฉิ่ง” ตีไม่ดัง หรือ เร่งเครื่องไม่ทัน
มันก็จะประดักประเดิด ในมุม “สมศักดิ์ศรี” กับการเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ในบัญชีนายกฯของพรรค
ตามฟอร์ม เกมลากอำนาจไปต่อตามพิมพ์เขียวบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญลำบาก
ล่าสุดยังเพิ่มโจทย์ยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ กับประเด็นที่มีการตีความปมร้อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้”
ลำพังไม่ใช่ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยที่ตีปี๊บ
ดักทาง แต่มันมีคนระดับนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่หนุนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เกิดความชัดเจน
เช่นเดียวกับนายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฟันธง ส่วนตัวเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557
ตามรูปการณ์ เป็นอีกจุดขวากหนามของ “บิ๊กตู่”
แม้เจ้าตัวจะแสดงอาการอยากไปต่อเต็มที่ แต่โดยสภาพของแรงเสียดทานมาถึงจุดนี้เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนที่วางค่ายกลไว้ในคัมภีร์ “ซือแป๋มีชัย”
จุดพลิกผัน ดันขัดลำอำนาจกันเอง
ไม่มีใครล้มได้ แต่ที่สุดก็ส่อแพ้ภัยตัวเอง.
“ทีมการเมือง”