สื่อมวลชนบางส่วนตั้งฉายา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น “เสือซุ่ม” ไม่ค่อยแสดงความเห็นเรื่องการเมือง แต่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐมนตรีมหาดไทยแสดงปาฐกถาในวงสัมมนาของวุฒิสภา ตอนหนึ่งความว่า ตนทำงานเหมือนราชการ เมื่อทำงานร่วมกับพรรคการเมือง จึงรู้ว่าตนอ่อนด้อยในเรื่องสำคัญ คือความใกล้ชิดประชาชน
สิ่งที่ พล.อ.อนุพงษ์พูด เป็นความจริงทางการเมือง นั่นก็คือมี “ช่องว่าง” ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เพราะรัฐบาล มาจากการยึดอำนาจ มาจากข้าราชการ ซึ่งปกครองประเทศมายุคโบราณ ข้าราชการเป็น “นาย” เป็นผู้ปกครองประชาชน ที่เป็น “ราษฎร” นักวิชาการเรียกว่า “อมาต ยาธิปไตย”
หลังจากการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย คณะรัฐประหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจ เช่น คสช. ต้องสร้าง “ความ ชอบธรรม” ให้แก่อำนาจด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ แทนฉบับที่ถูกฉีกทิ้ง พร้อมทั้งจัดตั้งพรรคการเมืองตามด้วยการเลือกตั้ง แต่ระดับผู้นำคณะรัฐประหารไม่ต้องลงเลือกตั้งเป็นเรื่องของนักการเมือง
เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ คสช. มอบให้ร่างขึ้นมา ยกเว้นระดับผู้นำของ คสช. ที่เรียกกันว่า “3 ป.” ไม่ต้องลงเลือกตั้ง ไม่ต้องไปไหว้ขอเสียงจากประชาชน แต่เป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมหาดไทยได้ มีอำนาจปกครองคนทั้งประเทศ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น
ถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมหาดไทย จะลงพื้นที่แต่ละครั้ง ก็ต้องเป็นคณะใหญ่ เสียงบประมาณจำนวนมาก เพราะข้าราชการอ้างว่าถ้าเป็นคณะเล็ก “ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ” ของมหาดไทย แม้จะไปพบประชาชน แต่ก็ยังเป็นแบบข้าราชการกับราษฎร ต่างจาก ส.ส.ที่ไปพบประชาชน เขาไม่เรียกว่าไป “ตรวจราชการ”
...
แต่เรียกว่าไป “เยี่ยมเยือน” ประชาชนไป “ปรับทุกข์ผูกมิตร” ชาวบ้าน ประชาชนไม่ว่า ส.ส.เป็น “นาย” เพราะส.ส.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องไปไหว้ขอเสียงชาวบ้าน ส.ส.จะไม่แต่งเครื่องแบบไปพบประชาชน เพราะทำให้รู้สึกว่าเป็นคนละชั้น เป็นคนละพวกกับประชาชน
พรรคพลังประชารัฐ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.เป็นชื่อพรรคที่สื่อความหมายดี สื่อถึงการร่วมมือระหว่าง “ประชา” คือประชาชน กับ “รัฐ” อันได้แก่รัฐบาล แต่ความเป็นจริง ยังมีช่องว่าง มีความห่างเหินระหว่างประชาชนกับรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง รู้ตัวว่าไม่ได้ใกล้ชิดประชาชน.