“ชัยวุฒิ” ลั่น ต้องปกป้อง 3 สถาบันหลักของชาติ ลุยจัดการโซเชียลล้างสมองเยาวชน ชวนออกมาชุมนุมท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ด้านพรรคก้าวไกล ประท้วงโดนใช้ภาพพาดพิงอ้างเป็นเฟกนิวส์
เวลา 16.48 น. วันที่ 3 ก.ย. 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงข้อกล่าวหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า การที่ใช้คำว่าระบอบปรสิต กำลังดูถูกทุกคนในสภา มาจากการเลือกตั้ง อาสาทำเพื่อประชาชน ปรามาส เป็นสิ่งไม่เหมาะสม ถ้ารู้จักผม จะรู้ว่าเป็นคนยังไง ขอพูดประวัติว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ไม่มีญาติพี่น้องเป็นนักการเมือง มีความฝันว่าอยากเติบโตทำงานที่ดี จบการศึกษาก็ทำงานบริษัท คิดว่าอยากเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานการเมืองตอนอายุ 27 เป็นสมาชิกพรรคหนึ่ง เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้ประเทศชาติ จนได้รับความไว้วางใจของคนในพื้นที่ จ.สิงห์บุรี เป็นกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ
ต่อมา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงว่า ชี้แจงไม่ตรงประเด็น ไม่ได้มีใครอยากรู้ประวัติ จากนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงนายวิโรจน์ อีกต่อ ซึ่งนายศุภชัย โพธิ์สุ ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานวินิจฉัย ไม่ผิดข้อบังคับ แต่ขอรีบเข้าสู่ประเด็นให้ไวขึ้น
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่า เพราะประสบการณ์การทำงานการเมืองที่ผ่านมาจึงได้มาเป็นรัฐมนตรี ที่บอกว่าเอื้อประโยชน์อยู่ในระบอบปรสิต ต้องชี้แจงว่าไม่ใช่แบบนั้น และเมื่อเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ระมัดระวังในการทำงานไม่ให้เกิดปัญหา และไม่ได้เอื้อประโยชน์ไทยคม ดาวเทียม 4 ดวงที่ยังเหลือ ต้องส่งคืนเป็นของรัฐบาลทั้งหมด เพราะหมดสัมปทานแล้ว แต่ก็มีข้อพิพาทกันอยู่ เร่งดำเนินการมาโดยตลอด ต้องหาคนมาดูแล มีการศึกษาจากผู้ที่เกี่ยวข้องในอดีตมา จึงจะโอนสิทธิ์การดูแลให้ NT หรือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผลักดันเรื่องต่างๆ จนครบกระบวนการจึงทำสัญญาเมื่อ 30 ก.ค. 2564
...
สำหรับประเด็นที่ผู้อภิปรายอาจจะไม่เข้าใจ คือ ธุรกิจดาวเทียม ถูกผูกขาดโดยไทยคมมา 30 ปี การหาผู้ประกอบการรายใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมไม่นานนี้ มีผู้ยื่นประมูลรายเดียว คือบริษัท ไทยคม ทาง กสทช. จึงต้องยกเลิกการประมูล เลื่อนออกไปก่อน ทั้งนี้ การทำธุรกิจของ NT ไม่เอื้อประโยชน์ไทยคม รัฐบาลมอบรัฐวิสาหกิจในสังกัดคือ NT ดูแล พร้อมมอบนโยบายไปว่าจะต้องไม่มีทีวีจอดำ ทุกคนต้องยังใช้ต่อไปได้ และคุ้มครองประชาชนไม่ให้เสียค่าบริการแพงกว่าเดิม
“ไม่มีความคิดเอื้อประโยชน์ไทยคม ผมทำหนังสือถึง กสทช. ไม่เห็นด้วยกับการจัดประมูลวงโคจรให้ไทยคม ให้ทบทวนเลื่อนออกไปก่อน ยังไม่เหมาะสม มีแต่ขัดผลประโยชน์ไทยคม ส่วนเรื่องอนุญาโตตุลาการ ผมก็ไม่รู้จักอัยการ ไม่เคยมีทุจริตต้องไปขึ้นศาล เมื่อตำแหน่งว่างก็ส่งเรื่องไปตามกระบวนการ องค์กรอัยการมีความเป็นกลาง ไม่แทรกแซง”
ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เรื่องข่าวปลอม รัฐบาลต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย รักษาความสงบสุขเป็นระเบียบเรียบร้อย คนไทยมีอัตราเข้าถึงเน็ต 70% ของทั้งประเทศ และการปิดกั้นไม่ใช่อำนาจกระทรวง 100% แต่ยื่นคำร้องต่อศาล ถ้ามีข้อความเข้าข่ายเฟกนิวส์ ก็จะรวบรวมส่งศาลระงับการเผยแพร่ และที่ถูกปิดมากที่สุดคือการหมิ่นสถาบัน 2.6 ล้าน URL ไม่เกี่ยวกับการเมือง ส่วนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เมื่อตรวจพบก็ต้องรีบเตือนและให้ความรู้ประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการสร้างข่าวปลอมเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล ทำให้คนตื่นตระหนก จึงต้องปิดกั้นและดำเนินคดี
นายวิโรจน์ ประท้วงอีกครั้งว่าเสียดสีบุคคลอื่นเรื่องการจัดฉากในเรื่องภาพที่นำมาเสนอ ประธานวินิจฉัยว่า เป็นสิทธิ์ของผู้อภิปรายและชี้แจง รัฐมนตรีนำมาแสดงก็ต้องรับผิดชอบเอง นายชัยวุฒิ ระบุต่อไปว่า มีการใช้โซเชียลฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะใช้ยุยงปลุกปั่นให้คนออกมาชุมนุม ทั้งที่อยู่ในภาวะควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ห้ามชุมนุม รวมตัวกัน และยังมีการใช้โซเชียลมีเดีย บิดเบือนข้อมูล สร้างความเกลียดชัง ความรุนแรงในสังคม สาเหตุหลักมาจากโซเชียล ล้างสมองคนพวกนี้ขึ้นมาให้เกิดการประท้วง ก่อนจะย้ำว่า ไม่มีเจตนาใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมยกข้อความจาก ส.ส.พรรก้าวไกล มาระบุว่าเป็นข่าวปลอม แต่ก็มีเพียง 2 รายที่เกี่ยวกับการเมืองแล้วดำเนินคดี หนึ่งในนั้นคือกรณีวัคซีนพระราชทานที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ยืนยันว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน
“ที่ผมเข้ามาทำหน้าที่ในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภารกิจหลักของผมคือการปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพราะวันนี้สถาบันหลักของชาติเรากำลังถูกบ่อนทำลายโดยการใช้โซเชียลมีเดีย ใช้คอมพิวเตอร์ สื่อสารข้อมูลกันอย่างแพร่หลาย และเป็นข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลที่ทำให้คนเกลียดชังกัน และเป็นข้อมูลที่สังคมไทยเรารับไม่ได้ เขาต้องการเพียงแค่ล้างสมองเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้ ผมจึงต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติไว้
ท่านอาจจะไม่ไว้วางใจผม เพราะเรามีความคิด มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน ผมเข้าใจ แต่ผมเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศเข้าใจผม เข้าใจภารกิจที่กระทรวงดิจิทัลต้องทำ เพื่อรักษาความสงบสุขในบ้านเมือง เพื่อปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติ ต้องเข้มแข็ง คงอยู่ เพื่อคนไทยทุกคนตลอดไป กราบขอความร่วมมือจากเพื่อนสมาชิกทุกคน เรามาช่วยกันให้ทำภารกิจนี้ให้สำเร็จด้วยกัน”
ทั้งนี้ แม้นายชัยวุฒิ จะชี้แจงจบในเวลา 17.35 น. ก็ยังเกิดการประท้วงต่อมาอีกมากมาย นายวิโรจน์ ประท้วงที่มีภาพขึ้นว่าโพสต์ข่าวปลอม ขณะที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ประชาธิปัตย์ ก็ประท้วง นายวิโรจน์ ว่าประท้วงซ้ำซาก ส่วนนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ก็ขอให้ประธานใช้กติกาเดียวกัน เพราะรัฐมนตรีใช้ภาพบุคคลภายนอก (นายธนาธร) ที่ไม่สามารถมาชี้แจงได้ แต่กลับไม่ตักเตือน ต่อมา นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าไม่ได้เกิดความเสียหาย เพราะบุคคลในภาพทำความผิด ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ก็ประท้วงว่าอย่าให้ ส.ส.นครสวรรค์ ขึ้นบ่อย แต่ก็โดนประธานปิดไมค์
จากนั้น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ใช้สิทธิ์พาดพิงว่ามีภาพถูกระบุเป็นเฟกนิวส์ และภาพที่มีสัญลักษณ์รวมถึงบุคคลของพรรคก้าวไกล ที่รัฐมนตรีนำมาชี้แจงเหมือนว่าพรรคก้าวไกลเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเฟกนิวส์ ขอยืนยันว่าไม่จริง และการเป็นศัตรูคนรุ่นใหม่อยู่ไม่ได้นาน ท่านกำลังเป็นศัตรูกับอนาคต และรู้สึกผิดหวังเพราะไม่ได้ปกป้องประชาชน แต่เมื่อจะพูดต่อก็ถูกประธานมีการปิดไมค์และบอกว่าการอภิปรายจบไปแล้ว เป็นสิทธิ์ของผู้ตอบว่าตรงประเด็นที่ถามหรือไม่ แต่นายอัครเดช ก็ประท้วงประธานต่ออีกว่าควรจะให้จบ ไม่ใช่ให้อภิปรายอีก ประธานจึงวินิจฉัยว่าไม่ให้มีการตอบโต้ไปมา จากนั้น นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่า ก่อนหน้านี้ที่ นายสุชาติ ตันเจริญ ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานก็เปิดโอกาสให้ซักถามรัฐมนตรีได้ เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะไว้วางใจหรือไม่ และกลัวว่าจะมีปัญหาเรื่องความเป็นกลาง ขณะที่ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่าประธานวินิจฉัยแล้ว ฉะนั้นต้องใจแข็ง ปิดไมค์
ในเวลาต่อมา นายรังสิมันต์ แย้งขึ้นอีกครั้งว่าอยากได้ความเป็นกลาง จนประธานยอมให้เวลา 1 นาที โดย นายรังสิมันต์ ถามไปถึงเรื่องที่อาจจะทำให้ไทยคม 7 และ 8 ตกเป็นของเอกชน และเรื่อง NT ทำไมไม่จัดประมูล รัฐมตรีจะไม่รู้ได้อย่างไรว่าคือการสร้างสัมปทานจำแลง ซึ่ง นายชัยวุฒิ ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ชี้แจงไปแล้ว ดาวเทียมที่รับมา NT ดำเนินการเองในประเทศ ส่วนลูกค้าต่างประเทศไทยคมช่วยดูแล เป็นการทำธุรกิจร่วมกัน ช่วยบริการประชาชน ไม่ใช่สัมปทาน ในส่วนที่ NT ไม่พร้อมก็ให้ไทยคมช่วย ก่อนทิ้งท้ายว่า “สัมปทานจบไปแล้วครับ ตื่นได้แล้วครับ”
และดูเหมือนจะไม่จบง่ายๆ เมื่อ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ก็ประท้วงประธานว่า ไม่ใช่การถามมาตอบไป นี่คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ควรเปิดให้ถามกันใหม่ ขอให้ดำเนินการเป็นตามข้อบังคับ ประธานจึงบอกว่าเมื่อผู้อภิปรายมีข้อข้องใจก็เปิดให้สั้นๆ จากนั้น นายจิรายุ ประท้วงว่า ประชาชนสงสัยเรื่องพรรคของสมาชิกบางคน และขอให้ประธานช่วยควบคุมการประชุมด้วย โดย นายคารม ก็กล่าวว่า ไม่ได้หิวแสง ในสภาฯ ไม่ต้องระบุพรรค ไม่ต้องมาแขวะ และนายอัครเดช ยังกล่าวอีกทีว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่มีการให้ถามตอบ
ในช่วงท้าย นายวิโรจน์ กล่าวถึงกรณีถูกพาดพิงเรื่องโพสต์วัคซีน หลังถูก นายชัยวุฒิ นำภาพไประบุว่าเป็นเฟกนิวส์ว่า กระทรวงการได้รับข้อเสนอจากอินเดีย ไม่ได้ปฏิเสธข้อเสนอ แต่ส่งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงอยากชี้แจงให้รัฐมนตรีทราบ จึงจบการอภิปรายและชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในเวลา 17.55 น.