"รังสิมันต์ โรม" ชำแหละ วงการดาวเทียมไทยคม อ้างมีระบอบปรสิตจ่ายเงินให้พรรคการเมืองขยายปีกทางธุรกิจ ก่อนจะถูกประท้วงวุ่น ปมอภิปรายหลังเอ่ยถึงบุคคลภายนอกและใช้รูป พล.อ.ประวิตร ในสไลด์
เมื่อเวลา 15.08 น. วันที่ 3 ก.ย. 2564 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานในการประชุม
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ถึงสัมปทานดาวเทียมไทยคม ที่กำลังหมดสัมปทานในปีนี้ ทำให้มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง และเกิดคดีฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ระหว่างบริษัทเอกชนและดีอีเอส ถึง 3 คดี คือ คดีไทยคม 7, 8 และ 5 มีการตั้งอนุญาโตตุลาการ ก่อนที่นายชัยวุฒิ จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง
แต่หลังจาก นายชัยวุฒิ เข้ามาดำรงตำแหน่ง 3 เดือน กระทรวงได้ส่งหนังสือไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุดให้เปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการให้เป็นอนุญาโตตุลาการคนเดียวทั้งหมด 3 คดี โดยอ้างว่าเนื้อหาทางคดีเหมือนกัน อีกทั้งมีการแต่งตั้งอัยการสูงสุด เข้ามาเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส
ทำให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ หลายคน ออกมาประท้วงในประเด็นนี้ ขอให้ประธานทักท้วงห้ามเอ่ยถึงบุคคลภายนอก เนื่องจากไม่มีโอกาสเข้ามาชี้แจงในสภา และขอให้ฝ่ายโสตทัศนศึกษา ตรวจสอบว่าเอกสารที่นำมาอภิปรายในสภานั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่ เพราะเกรงว่าจะเป็นเอกสารเท็จอีก
นายศุภชัย ที่ทำหน้าที่ประธานในการประชุม จึงระบุว่า เป็นการรับผิดชอบเฉพาะตัวของผู้อภิปราย จึงไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ พร้อมขอให้ ส.ส.พลังประชารัฐถอนคำพูด เรื่องเอกสารเท็จ นอกจากนี้ยังขอให้นายรังสิมันต์ เลี่ยงเอ่ยชื่อถึงบุคคลภายนอก เนื่องจากข้อบังคับระบุเอาไว้
...
จากนั้นนายรังสิมันต์ ได้อภิปรายต่อว่า อัยการสูงสุด ยังมีการแต่งตั้งอัยการอาวุโสเข้ามาเป็นอนุญาโตตุลาการ แต่ถูกปฏิเสธจากกระทรวงดีอีเอสเลยลาออกในเวลาต่อมา ทำให้ต่อมามีการแต่งตั้งอธิบดีอัยการสำนักที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเคยเป็นคณะทำงานคดีดาวเทียมของกระทรวง เป็นอนุญาโตตุลาการ มูลค่าประมาณการความเสียหายถ้าเกิดการล้มคดีให้ฝ่ายกระทรวง 18,189 ล้านบาท
นายรังสิมันต์ ยังอภิปรายถึงเรื่องผลประโยชน์ดาวเทียม ไทยคม4 และ 6 หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ว่า มีการลงนามสัญญามอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินดาวเทียมให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT โดย สัญญาที่ 1 มีการจ้างบริษัทเอกชน บริหารดาวเทียม "ไทยคม" 4 และ 6 จำนวน 200 ล้านบาท จากนั้นสัญญาที่ 2 มีบริษัทลูกของบริษัทเอกชนดังกล่าว เข้ามาซื้อความจุในช่องสัญญาณ ไปหากำไร 283 ล้านบาท และจ่ายคืนให้ NT เหมือนอัฐยายซื้อขนมยาย และเหมือนกับว่าบริษัทเอกชนนั้น จ่ายเงินให้ NT เพียงแค่ 83 ล้านบาท ทำให้ไม่มีการแข่งขัน เอื้อเอกชนรายเดิม ไม่มีการประมูล และใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือ จะทำให้ NT มีสถานะคล้ายกับการบินไทยในอนาคตได้
นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ ยังมีการอภิปราย อ้างถึงกลุ่มทุนบางกลุ่มต้องการขยายปีกทางธุรกิจ เป็นระบอบปรสิต จ่ายเงินให้พรรคการเมือง และรัฐบาล รวมถึงส่งพรรคพวกเข้ามาเป็นคนในรัฐบาล มีการจ่ายเงินให้ข้าราชการ เพื่อเป็นแขนขา ซึ่งเป็นแค่บางส่วนที่ทางพรรคตรวจเจอเท่านั้น
ทำให้นายศุภชัย ได้กล่าวเตือนนายรังสิมันต์อีกครั้ง ว่าขออย่ากล่าวหาบุคคลอื่นในภาพกว้าง เพราะเหมือนเป็นการใส่ร้าย หน่วยงานอื่น เนื่องจากไม่เกี่ยวกับการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงขอให้สรุปการอภิปราย
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ จึงประท้วง ประธานว่ามีการปล่อยให้นำเสนอรูปภาพพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและบุคคลอื่นในสไลด์ พร้อมขอให้ถอนคำพูดเรื่องระบอบปรสิต
นายศุภชัย จึงขอให้นายรังสิมันต์ กล่าวหาแค่นายชัยวุฒิ และนายกฯเท่านั้น เพราะการกล่าวหาบุคคลอื่นเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ทำให้นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่า การอภิปรายต้องกระทุ้งให้ละเอียดลึกซึ้งถึงคนภายนอกที่เกี่ยวข้องคณะรัฐมนตรี เพราะต้องการชี้แจงคนที่อยู่เบื้องหลัง จึงขอให้ประธานเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบให้ลึกซึ้งมากกว่า
นายรังสิมันต์ จึงได้สรุปการอภิปราย โดยขอให้ทลายปรสิตการเมือง หรือการจัดการผูกขาด หยุดเครือข่ายการเมือง เพื่อไม่ให้มีศักดินาและใครอยู่เหนือกฎหมายอีกต่อไป ก่อนจะจบการอภิปรายในเวลา 16.47 น.