รมว.แรงงาน ยัน ทุกเรื่องทำเพื่อแรงงาน ไม่ได้สู้เพื่อธุรกิจตนเอง ชี้เยียวยาทุกภาคส่วน แจงปิดแคมป์คนงานเพื่อให้โควิดจบ ไม่ได้บริหารพลาด ปฏิเสธ ไม่รู้จักกระบวนการส่งส่วย ดาบ จ. และ เจ๊อ้อ
เมื่อเวลา 10.18 น. วันที่ 3 ก.ย. 2564 ที่อาคารรัฐสภา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวชี้แจง ในการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุม
โดยนายสุชาติ ได้ยืนยันว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดมีการช่วยเหลือและลดภาระของนายจ้างและผู้ประกอบการ ทั้งนายจ้าง ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 จากการลดเงินสบทบถึง 4 ครั้ง จำนวน 67,595 ล้านบาท โดยรัฐบาลใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีการเยียวยาแรงงาน ม.33 คนละ 6000 บาท ถึง 8.14 ล้านคน วงเงิน 48,841.47 ล้านบาท โดยไม่ใช้กองทุนประกันสังคม รวมถึงรัฐบาลยังดูแลนายจ้าง 9 ประเภท ม.33 ม.39 และ ม.40 รวมเป็นเงิน 39,407,619,000 บาท พร้อมชี้แจงเรื่องการเยียวยาไม่ทั่วถึง เพราะบางส่วนไม่ได้ปิดกิจการ ส่วนฟรีแลนซ์ ก็เปิดโอกาสให้สมัคร ม.40 เพื่อรับเงินช่วยเหลือแล้ว ขณะที่การจ้างงาน ยอมรับว่าปี 2563 คนออกจากงานมากกว่า 4 แสนคน แต่ปี 2564 มีคนเข้าระบบ ม.33 กว่า 6 แสนคน
...
ขณะที่เรื่องการปิดแคมป์คนงานช่วงโควิด ปิดเพื่อให้จบ แต่ยอมรับว่ามามีการเล็ดลอดออกจากแคมป์คนงานเพราะเป็นช่วงคาบลูกคาบดอก แต่หลังจากที่ปิดมีการตรวจหาเชื้อโควิด และฉีดวัคซีน 100% ทั้งหมดแล้วในกทม.และ จ.ใกล้เคียง ยืนยันไม่ถึงกับการบริหารผิดพลาด เพราะปิดแล้วจบ
ส่วนเรื่องการขึ้นค่าแรงตามนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ยอมรับว่า การแก้ปัญหาช่วงที่มีการระบาดถือว่าชุลมุน และการขึ้นค่าแรงพร้อมกันทั่วประเทศของรัฐบาลชุดก่อนเป็นเรื่องที่น่าวิตก จึงพยายามแก้ที่การจ้างงาน พร้อมยอมรับคนออกจากงานช่วงที่มีการระบาดในปี 2563 มีมากกว่าแต่เมื่อเข้าสู่ปี 2564 มีการเข้าสู่ระบบถึง 6 แสนกว่าคน จึงถือว่าคนเข้าระบบ ม.33 มากกว่าออก
นายสุชาติ ยังปฏิเสธว่า ไม่รู้จักกระบวนการส่งส่วย ดาบ จ. และ เจ๊อ้อ เพราะตนเองทำงานในส่วนแรงงาน และตรวจสถานประกอบการ เพื่อตรวจดูว่ามีใบอนุญาตแรงงานหรือไม่ โดยปีที่ผ่านมาตรวจกว่า 3.8 หมื่นกิจการ แรงงาน 5 แสนราย ดำเนินผู้ประกอบกิจการกว่า 1 พันราย และลูกจ้าง 1,300 ราย ส่วนเรื่องการซื้อคอมพิวเตอร์ 850 ล้านบาท เป็นการบริหารของกองทุนประกันสังคม ที่มีงบบริหาร 10% เพื่อแก้ปัญหาเรื่องระบบการจ่ายเงินและเยียวยาแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาระบบที่ล่าสมัยกว่า 20 ปี
ทั้งนี้ยังยืนยันในเรื่องการดำเนินการ Factory sandbox กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุก 100% และตรวจไปแล้วกว่า 4 แสนราย เป็นเงินของกระทรวงแรงงานไม่ใช่ผู้ประกอบการ และหากเจอผู้ติดเชื้อจะให้ไปรักษาใน Hospitel ทันที โดยยืนยันว่าทุกเรื่องที่ทำนั้นสู้เพื่อแรงงาน ไม่ได้สู้เพื่อธุรกิจตนเอง และทุกอย่างต้องยืนอยู่บนหลักการ
ทำให้ นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วง ให้ฝากดูเรื่องข้อมูลแคมป์คนงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่ตรงกัน และน้อมรับเรื่องมารยาทไม่ส่งต่อข้อมูลในไลน์ส่วนตัว ส่วน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี ได้ประท้วงขอให้ยอมรับเรื่องขึ้นค่าแรงไม่ได้ เพราะส่วนตัวมองว่าทำได้
นายสุชาติ จึงชี้แจงว่า เรื่องฉีดวัคซีนอาจจะเหลือแค่ 10% เพราะ กทม.มีการตรวจและฉีดวัคซีนไปบ้างแล้ว ส่วนเรื่องการขึ้นค่าแรงยืนยันมีอยู่ในความคิด แต่ทุกวันนี้ขอแก้ปัญหาการรักษาการจ้างงานก่อน และจบการอภิปรายในเวลา 11.03 น.