หมอสาธารณสุข นำทีม ฉะเดือด อภิปรายฯปมวัคซีน ยัน ฉีดสูตรไขว้ มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย จ่อ คลอดวารสารระดับโลก ลั่น! บริหารไม่โง่ ไม่ต้องรอตีพิมพ์

วันที่ 1 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นำผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงหลังฝ่ายค้านอภิปรายกรณีการฉีดวัคซีนไขว้

โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวอธิบายต่อคำอภิปรายของสมาชิกผู้แทนราษฎร ประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย และการดูแลรักษาผู้ป่วย

นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามหลักการแล้วโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรารู้จักสายพันธุ์เดลตาเพียง 3-4 เดือน ฉะนั้นความรู้ใหม่เปลี่ยนตลอดเวลารวมถึงวัคซีนด้วย ที่สำคัญวัคซีนที่เราใช้กันอยู่ มีข้อมูลยังไม่ถึงปี ดังนั้น ความรู้ และสถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา การบริหารจัดการก็จะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของประชาชน อย่างไรก็ตาม ปกติเราฉีดวัคซีนตามแต่ละบริษัทผู้ผลิต แต่เดลตาทำให้ทุกวัคซีนประสิทธิภาพลดลงหมด แต่ยังลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต แต่สิ่งที่เราต้องการ คือ ทำให้วัคซีนที่มีอยู่เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นที่มาของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เป็นการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศไทย ว่า ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงกว่าปกติและสามารถฉีดในเวลาสั้นลง

นพ.โอภาส กล่าวว่า กลไกการพิจารณาสูตรวัคซีนต่างๆ สธ.ไม่ได้คิดโดยลำพัง แต่มีคณะกรรมการ มีคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านโรคติดเชื้อ ด้านวัคซีน ด้านระบาดวิทยา และอื่นๆ ร่วมประชุมหาข้อสรุป เพื่อปรับการใช้วัคซีนโดยอ้างอิงหลักฐานวิชาการจากข้อมูลที่เรามีและข้อมูลจากทั่วโลก วัคซีนสูตรไขว้ ก็มีคณะกรรมการวิชาการใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พิจารณาเห็นชอบให้นำสูตรนี้มาใช้เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 64 โดยนำข้อมูลจากกรมวิทย์ฯ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไบโอเทค และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะเห็นได้ว่า ผู้เชี่ยวชาญจากแหล่งต่างกัน แต่ได้ข้อสรุปตรงกันว่า สูตรไขว้มีประโยชน์ในการมาใช้ และนำเข้าสู่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยเห็นชอบให้นำมาใช้ในวันที่ 12 ก.ค. 64 ยืนยันว่า ผ่านความเห็นของคณะกรรมการวิชาการอย่างรอบคอบก่อนนำมาฉีดให้ประชาชน

“ยืนยันว่าในปีนี้เราน่าจะมีวัคซีนมากกว่า 100 ล้านโดส และยืนยันเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าเราจะฉีดวัคซีนตามแผน และเป้าหมายด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ขอให้ทุกคนมั่นใจในทีมงานของกระทรวงสาธารณสุข และประเทศไทย” นพ.โอภาส กล่าว

...

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนด้านความปลอดภัย ต้องย้ำว่า วัคซีนทุกตัวที่ใช้ในไทย ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ดังนั้นจะมีความปลอดภัยสูง โดยเราฉีดสะสมแล้วกว่า 32 ล้านโดส และไม่มีรายใดที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าเสียชีวิตจากวัคซีน

“ดังนั้นการตั้งคำถามว่าสูตรไขว้ปลอดภัยหรือไม่ ยืนยันว่าปลอดภัย และฉีดให้คนไทยแล้วกว่า 1.5 ล้านคน ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่ามีความปลอดภัย เรา สธ. จะดูแลให้ดีที่สุด” นพ.โอภาส กล่าว

ด้าน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เป็นความจำเป็นที่ต้องมีการอภิปรายซ้ำเพราะมีการตั้งข้อสงสัย แต่ต้องเรียนว่า การระบาดในช่วงแรกจะเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น วัคซีนที่ผลิตทุกชนิดเป็นรุ่นแรกซึ่งมีสารตั้งต้นจากไวรัสดั้งเดิม แต่เมื่อมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์จี อัลฟา และเดลตา คณะวิชาการที่เกี่ยวข้องไม่นิ่งนอนใจในการนำวัคซีนมาใช้ มีการติดตามภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีนว่า สามารถสู้กับสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ มีการกล่าวถึงอาจารย์แพทย์หลายท่าน แต่ขอเรียนว่า ทุกท่านมีความเมตตาต่อกระทรวงสาธารณสุข ที่เข้ามาร่วมให้คำแนะนำ บริหารจัดการ ดังนั้น การที่เราจะใช้วัคซีนใด อย่างไร ท่านได้พิจารณาให้ความเห็นมาโดยตลอด

“มีคนบอกว่าเราไขว้สูตรวัคซีนด้วยซิโนแวค และแอสตราฯ เราไม่ได้ตีพิมพ์วิจัยในวารสารวิชาการ ต้องเรียนกรมวิทย์ฯ กำลังส่งตีพิมพ์ แต่งานวิจัยระดับโลกหลังจากที่ได้ผลวิจัยแล้ว กว่าจะส่งให้วารสารตีพิมพ์ จะต้องใช้เวลานาน ดังนั้น สถานการณ์เช่นนี้ หากใครก็ตามที่เป็นผู้บริหารรอให้ตีพิมพ์ก่อนจึงมาบริหารจัดการ ถือว่า โง่มาก” นพ.ศุภกิจ กล่าว และว่า ขณะนี้ รพ.ศิริราช ร่วมกับกรมวิทย์ฯ ได้ทำงานวิจัยออกมา และอยู่ในระหว่างการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกเช่นกัน

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ต้องจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มก็เกิดจากผลวิจัยที่ออกมาว่า การสู้ดับเดลตา ด้วยการฉีดซิโนแวค 1 เข็ม ตามด้วยแอสตราฯ ห่างกันเพียง 3 สัปดาห์ ให้ภูมิคุ้มกันพอๆ กับการฉีดแอสตราฯ 2 เข็ม ซึ่งทำให้ครอบคลุมประชากรจากเดิมมากขึ้น 2 เท่า จึงเป็นความจำเป็นในการซื้อซิโนแวคเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สธ. ไม่เคยพูดว่าการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ยังมีประสิทธิผลต่อเดลตาสูง เนื่องจากงานวิจัยก็ระบุว่าประสิทธิผลลดลงในทุกวัคซีน เราก็มีแผนกระตุ้นเข็ม 3 สำหรับ 3 ล้านคนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการฉีดวัคซีนไขว้มีความปลอดภัย เนื่องจากมีข้อมูลการฉีดซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 แล้วฉีดแอสตราฯ เป็นเข็ม 2 จำนวนหลายพันคน พบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นสูง และไม่มีผลข้างเคียง ทั้งนี้ ยืนยันว่าเราฉีดสูตรไขว้ SA ไปแล้วกว่าล้านคน ยังไม่พบปัญหาใด ๆ จึงขอว่าอย่าพูดให้ประชาชนเกิดความสับสน
.