ส.ส.ก้าวไกล "วิโรจน์" อภิปรายดุเดือดปมจัดสรรวัคซีน อ้างลูกสาว 7 ขวบยังถูกติดตาม สาปนายกฯ-อนุทินแรงให้ตกนรก เข้าคุก จนทำให้ ส.ส.ภูมิใจไทย ประท้วงวุ่น อย่าเสียดสี ใช้ถ้อยคำรุนแรงในสภาแห่งนี้

...

เมื่อเวลา 15.43 น. วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้กล่าวอภิปราย เรื่องการกระจายวัคซีนของรัฐบาล พร้อมเปิดคลิปที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่พูดถึงวาทกรรมจะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาเต็มแขน เมื่อ 17 ก.พ. 2564

ทำให้นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นประท้วง ว่าการเปิดคลิปนายอนุทิน เป็นการนำมาดัดแปลง ทำให้ดูเสียดสี และตลกขบขัน จึงขอให้ประธานวินิจฉัย อย่าเปิดคลิปแบบนี้อีก

นายสุชาติ จึงวินิจฉัยว่าได้ดูคลิปแล้วไม่เสียหาย แต่เพื่อเป็นภาพลักษณ์ ของตัวรัฐมนตรี จึงขอให้หลีกเลี่ยง

นายวิโรจน์ จึงอภิปรายต่อไป พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค เพียงแต่มองว่าวัคซีนดังกล่าวยังไม่เหมาะกับสถานการณ์ในประเทศไทยในขณะนี้ โดยไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่ดีไม่พอ เหตุใดจึงมีการซื้อซ้ำ จึงขอให้นายอนุทินนำงานวิจัยระดับโลกมายืนยันกับคนไทย เพราะเหมือนเป็นแผนวัคซีนลวงโลก กีดกันวัคซีนชนิดอื่น นอกจากนี้องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ยังเรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยชะลอการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อให้นำวัคซีนไปบูสเตอร์กับประเทศที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มแทน ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ แต่รัฐบาลไทยก็ยังมีการจัดซื้อซ้ำ เพื่อมาเป็นวัคซีนไขว้

นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงแผนการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่พบว่ารัฐบาลยังขาดการเตรียมความพร้อม และละเลยในการดูแลประชาชน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ทำให้หลายคนต้องล้มป่วยตายคาบ้าน จึงขออย่าอ้างว่าติดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เพราะมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เปิดโอกาสให้ใช้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว รวมถึงแผนจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ในไตรมาส 3 กรกฎาคม -กันยายน ที่ระบุว่าจะมีเต็มแขน ก็ยังไม่พบว่ามีจริงหรือไม่ อีกทั้งยังตั้งคำถามว่าไปทำสัญญาโดยไม่มีแผนส่งมอบได้อย่างไร

นายวิโรจน์ ระบุว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัญญาที่รัฐบาลไทยทำกับบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งแบ่งเป็นสัญญาจัดซื้อ 26 ล้านโดส และสัญญาจัดซื้อ 35 ล้านโดส ที่ออกมาเป็นมติ ครม. ในวันที่ 5 มกราคม 2564 ซึ่งควรต้องทำสัญญาจองซื้อเรียบร้อยแล้ว หรืออย่างน้อยก็ควรต้องมีการลงนามหนังสือใดๆ แต่ครม. กลับเพิ่งให้จองซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาเพิ่มจากลอตแรก 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ หลังจากที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ต่อมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติส่งสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส ที่ลงนามเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 มาให้ตนเท่านั้น แต่ไม่ได้เปิดเผยสัญญาจัดซื้ออีก 35 ล้านโดส ซึ่งเอกสารดังกล่าวล้วนเต็มไปด้วยการถมดำข้อความเอาไว้ จนในที่สุด เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 หลังจากเริ่มต้นฉีดวัคซีนไปได้แค่ 6 วัน อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเลข 61 ล้านโดส เป็นเพียงศักยภาพในการฉีด ไม่ใช่จำนวนที่แอสตราเซเนกาต้องส่งมอบ

จนเดือนมิถุนายน รัฐบาลได้รับการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาเพียง 5.1 ล้านโดส ไม่ตรงตามแผนการส่งมอบเดือนแรก 6.3 ล้านโดส ทำให้มีประชาชนถูกเลื่อนการฉีดวัคซีนจนติดโควิด-19 จนเสียชีวิต และต่อมามีการเปิดเผยโดยผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่าแอสตราเซเนกาน่าจะส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลไทยได้เพียง 5-6 ล้านโดสเท่านั้น ไม่เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนที่ต้องได้รับเดือนละ 10 ล้านโดส และยังชี้แจงต่ออีกว่าในสัญญากับแอสตราเซเนกา ไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไร


“เมื่อนำไปเทียบกับสัญญาวัคซีนแอสตราเซเนกาของสหภาพยุโรป เขาจะมีตารางที่ระบุประมาณการในการส่งมอบวัคซีนแต่ละเดือน ว่าจะมีการส่งมอบเท่าไรบ้าง ผมก็คาดหวังว่าสัญญาถมดำที่รัฐบาลไทยทำกับแอสตราเซเนกา จะต้องมีตารางในลักษณะคล้ายๆ กันอยู่ในนั้นแน่ ๆ แต่สุดท้ายเอกสารที่ผมได้รับมาอีกชุดหนึ่ง เมื่อเปิดออกมา กลับไม่พบตารางอะไรเลย ไม่เห็นยอดประมาณการในการส่งมอบอะไรเลย มาถึงจุดนี้ผมคิดว่าเราต้องยอมรับโดยดุษณีว่าสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปทำเอาไว้ ไม่ได้มีการระบุยอดประมาณการส่งมอบวัคซีนอะไรเอาไว้เลยจริงๆ จนต้องตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไปทำสัญญาหละหลวมนี้ไว้ได้อย่างไร?” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์อภิปรายต่อไปว่า ต่อมารัฐบาลจำใจต้องยอมรับกับประชาชนว่าการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ได้ขยายกรอบเวลาในการส่งมอบไปที่ 1 พฤษภาคม 2565 โดยในสัญญาไม่ได้มีการระบุว่าต้องส่งมอบทั้ง 61 ล้านโดสภายในปี 2564 และไม่มั่นใจว่าจะสามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ในการจำกัดการส่งออกได้หรือไม่

แอสตราเซเนกาทำหนังสือถึงนายอนุทิน ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เพื่อแจ้งให้ทราบว่าแอสตราเซเนกาจะจัดสรรกำลังการผลิตหนึ่งในสามเพื่อส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งก็คือประมาณเดือนละ 5-6 ล้านโดส และยอดวัคซีนที่แอสตราเซเนกาจะส่งมอบในตอนนี้ เป็นยอดเกือบสองเท่าจากที่รัฐบาลไทยเคยประเมินความต้องการให้กับแอสตราเซเนกา ที่ประเมินว่าไทยต้องการวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดสเท่านั้น

ส่วนเอกสารยังระบุว่าสัญญาที่สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส เพิ่งลงนามเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง แล้วที่ผ่านมา รัฐบาลกล้าประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทราบถึงแผนการจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดสได้อย่างไร ทั้งที่ยังไม่ได้มีการลงนามจากคู่สัญญาเลย

หากย้อนกลับไปในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่นายอนุทินกล่าวเองว่าในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ มีผู้แทนจำหน่ายวัคซีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้แทนจากไฟเซอร์ด้วย เดินทางมาพบกับนายอนุทิน

ถ้าในวันนั้นหรือเดือนนั้น มีมติ ครม.จัดซื้อวัคซีนจากผู้แทนจำหน่ายที่มาพบกับนายอนุทิน ภายในเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ตรงกับที่นายอนุทินระบุว่าผู้แทนจำหน่ายเหล่านั้นจะทำการส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยได้ภายในไตรมาสสาม ณ เวลานี้เราก็จะได้ไฟเซอร์เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมแล้ว

นายวิโรจน์อภิปรายว่าทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพียงเพราะ พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน ไม่ต้องการให้มีวัคซีนยี่ห้อไหนหรือโครงการอะไรมาตัดหน้าการเข้ามาของแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์โดยเด็ดขาด เพราะทั้งคู่หมายที่จะใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศ มาสร้างความนิยมทางการเมือง โดยมีฤกษ์งามยามดีฉีดให้ประชาชนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564

นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ยังอ้างว่าแผนส่งมอบวัคซีนตามที่รัฐบาลประกาศ ในสิ้นเดือนธันวาคม 2564 นี้ จะไม่สามารถส่งมอบได้ 61 ล้านโดส ขณะที่การฉีดวัคซีนแบบไขว้ ก็อาจจะไม่มีวัคซีนแอสตราเซเนกา ได้เพียงพอหรือไม่ รวมถึงอาจยังมีการโกหกเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะที่ยังโจมตีรัฐบาล ในเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เป็นไปด้วยความล่าช้า การได้ยารักษาโควิดก็เป็นไปอย่างยากเย็น จนทำให้ผู้ติดเชื้อหลายคนต้องเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน อีกทั้งยังมีการออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ถึงแม้จะถอน แต่อาจมีการสอดไส้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ จึงขอให้ติดตาม ทั้งนี้ ยังโจมตีรัฐบาลที่ยังปฏิเสธเรื่องการเข้าโครงการ Covax และการแทงม้าเรื่องวัคซีนตัวเดียว โดยไม่กระจายแผนวัคซีน ซึ่งเหมือนเป็นการกีดกันวัคซีนตัวอื่น

นายวิโรจน์ ยังอ้างด้วยว่า ลูกสาวอายุ 7 ขวบ ของตนเอง ยังอยู่ในบัญชีถูกติดตามอีกด้วย พร้อมทั้งระบุว่า การดำรงอยู่ของ นายกฯ และ นายอนุทิน ขณะที่มีคนตายจากโควิด-19 ยังสูงอยู่ ยังคล้ายกับเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกทุกวัน ในฐานะสภาผู้แทนราษฎร จะปล่อยให้บุคคลเหล่านี้ก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนได้อย่างไร จากพฤติการณ์ที่ผ่านมา จึงขอให้ทั้งคู่ลาออก เพื่อเป็นการกอบกู้เกียรติของสภาให้กลับคืนมา และเพื่อไม่ให้ไปก่อกรรมทำเข็ญกับบุคคลอื่นอีกต่อไป โดยยังกล่าวด้วยถ้อยคำที่รุนแรงทิ้งท้าย พาดพิงให้ทั้งคู่ติดคุกและลงนรกด้วย

ซึ่งระหว่างที่ นายวิโรจน์ กำลังอภิปรายอยู่นั้น ได้เกิดการประท้วงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนายวิโรจน์อภิปรายด้วยท่าทางดุดัน มีการเปิดคลิปถึงบุคคลอื่น ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาทิ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วง ในเรื่องที่ประธานเพิกเฉยเรื่องคำกล่าวที่ว่า "วัคซีนลวงโลก" เนื่องจากไม่มีเรื่องดังกล่าว และขอให้นายวิโรจน์ อย่าเสียดสี ว่าตนเองเป็นงู เพราะตนเองเป็น ส.ส.

ขณะที่พันตำรวจโท ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังประชารัฐ มีการประท้วง ขอให้นายวิโรจน์อย่านำสถาบันพระมหากษัตริย์มากล่าวอ้างอีก เพราะตนเองรักสถาบัน เทิดทูน จึงขออย่าพูดในสภา เพราะสำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล

ส่วนนายศุภชัย ยังได้ลุกประท้วงหลายครั้ง ว่านายวิโรจน์ได้อภิปรายในประเด็นที่ซ้ำกับบุคคลอื่น และแพทย์ได้ชี้แจงที่สภาแล้ว จึงขอให้ข้ามไปอภิปรายในประเด็นอื่น และขออย่าใส่ร้ายป้ายสีนายอนุทิน อย่างรุนแรงอีก รวมถึงอย่าใช้ถ้อยคำที่สภาไม่ใช้กัน

นอกจากนี้ยังมี ส.ส.พรรคภูมิใจไทย อีกหลายคนลุกขึ้นประท้วง นายสุชาติ ที่ทำหน้าที่ประธานในขณะนั้น สลับกับส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ที่ลุกประท้วงปกป้องนายวิโรจน์ เพื่อให้ได้อภิปรายต่อไปได้ ทำให้นายสุชาติ ที่ทำหน้าที่ประธานสภาในขณะนั้นต้องวินิจฉัยหลายรอบ

โดยนายวิโรจน์ มีเวลาในการอภิปรายทั้งสิ้น 1.30 ชม. และจบในเวลา 17.52 น.