“หมอวาโย” ส.ส.ก้าวไกล อัดปมวัคซีนซิโนแวค เอาคนไทยเป็นหนูทดลอง ท้ังที่สู้สายพันธุ์เดลตาไม่ได้ อภิปรายความผิด “นายกฯ-อนุทิน” ไม่ขอไว้วางใจ
เมื่อเวลาประมาณ 14.50 น. วันที่ 1 ก.ย. 2564 นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ถึงประเด็นเรื่องการบริการราชการแผ่นดินล้มเหลว บริหารวิกฤตการณ์โควิด-19 ล้มเหลว โดยขอกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน สั่งซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อสถานการณ์ ณ เวลาที่รู้หรือควรรู้ว่าวัคซีนชนิดนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อสถานการณ์อีกต่อไป หรือจะพูดสั้นๆ อย่างเข้าใจง่ายว่า ซื้อของที่ใช้ไม่ได้ ณ เวลาที่รู้อยู่แล้วว่าใช้ไม่ได้
ขณะนี้สายพันธุ์เดลตา เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักอยู่ในประเทศไทย และ ณ วันที่ 9 ส.ค. ไม่มีข้อมูลปรากฏว่าโคโรนาแวค (ซิโนแวค) สามารถรับมือได้ ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่ต้องมาพิสูจน์ทราบว่าวัคซีนที่รัฐบาลสั่งซื้อมีคุณภาพหรือไม่ แต่เป็นหน้าที่ของผู้ใช้เงินภาษีของประชาชนที่จะต้องบอก และชี้แจงว่าสิ่งที่ซื้อมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ แม้แต่การศึกษาในประเทศไทยก็สรุปว่าซิโนแวคต่อกรกับสายพันธุ์เดลตาได้เพียง 48.33% ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองที่ 50% ขึ้นไป จะบอกว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่รู้ไม่ได้ ส่วนตัวเชื่อว่าอาจารย์แพทย์ได้พยายามบอกแล้ว
...
มติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 มีมติสั่งซื้อซิโนแวคเพิ่มอีก 12 ล้านโดส จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจำนวนมาก ต่อมามีการชี้แจงว่าแอสตราเซเนกา ส่งให้ได้เพียง 5-6 ล้านโดสต่อเดือน จึงซื้อซิโนแวคมาเพิ่มเพื่อให้ได้ 10-15 ล้านโดสต่อเดือน และสูตรไขว้ซิโนแวค+แอสตราเซเนกา จะฉีดได้เร็วขึ้น หลังจากนั้นเพียงวันเดียวทางศิริราช ออกข้อมูลตรงกับที่มีการออกมาชี้แจงเหตุผลเรื่องการสั่งซิโนแวคเพิ่ม ซึ่งผลการศึกษาออกมาภายหลังมติสั่งซื้อเพิ่ม และยังรวมไปถึงความไม่เหมาะสมในการออกนโยบายของรัฐซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเกือบ 70 ล้านคน และยังอ้างอิงถึงข้อมูลกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนวโน้มการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่วัคซีนเชื้อตายไม่เหมาะต่อการนำมาใช้ แต่ก็ยังคงสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ควรจะรู้ตั้งแต่ปลาย มิ.ย. แล้วว่า เดลตาจะเป็นกลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักในไทย
นอกจากนี้ นายแพทย์วาโย ยังกล่าวถึงประเด็นที่ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายซึ่งต้องร่วมรับผิดกับนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยนย้อนไปเมื่อ 27 เม.ย. 2564 ที่ราชกิจจานุเบกษา มีประกาศโอนอำนาจรัฐมนตรีมาเป็นของนายกรัฐมนตรี รวมกฎหมาย 31 ฉบับ ในจำนวนนี้ 13 ฉบับเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ต่อมา 29 เม.ย. 2564 มีประกาศออกมาในทำนองว่ายึดอำนาจเฉพาะรัฐมนตรี และไม่ได้โอนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามกฎหมายเหล่านั้น ให้หน่วยงานตลอดจนรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะเข้าดำเนินการเอง โดยหลักคืออำนาจรัฐมนตรียังอยู่ แต่นายอนุทิน ระบุว่าฝ่ายนโยบายไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แพทย์เป็นผู้ลงนาม
ในเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเทศไทยฉีดไปได้ 30% และส่วนใหญ่เป็นซิโนแวค ซึ่งมันไม่พอ ปัจจุบันยังมียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาก ต้องยอมรับสถานการณ์ในไทยย่ำแย่จริงๆ และประเทศไทยยังรั้งอันดับท้ายๆ ในของหลายองค์กรที่มีการจัดอันดับด้วย สายพันธุ์เดลตาทำให้ยิ่งดิ่งเหว แต่ยังยืนยันที่จะใช้วัคซีนเชื้อตาย ยอดคนติดเชื้อน้อยลง แต่คนตายกลับมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี ที่คลายล็อกดาวน์เพราะผู้ป่วยติดน้อยลง บอกสถานการณ์ดีขึ้น แต่ต้องดูเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อจากจำนวนที่ตรวจ เพราะมีการตรวจน้อยลง แต่เจอผู้เชื้อ 1 ใน 5 ราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เป็นการละเว้นเพราะมีอำนาจและหน้าที่แต่ไม่ทำ ส่วนนายกรัฐมนตรี ทำแต่ไม่มีประสิทธิภาพ เข้าข่ายผิดข้อกฎหมายหลายข้อ
“การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะในกรณีที่ หน้าที่นั้นกำหนดเอาไว้เป็นการเฉพาะ ถือเป็นการลดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หน้าที่ตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญ การปัดป้องภัยพิบัติโรคติดต่อร้ายแรงให้กับประชาชน รัฐบาล นายกรัฐมนตรี ท่านเป็น ผอ.ศบค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐธรรมนูญเปิดสิทธิ์ให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของท่าน คนหนึ่งทำ คนหนึ่งไม่ทำ โดยมีที่รู้ ถ้าท่านบอกว่าท่านไม่รู้เนี่ย มันไม่ได้ ท่านควรจะต้องรู้ ภาษากฎหมายใช้ว่ารู้หรือควรรู้ ข้อมูลทั้งหมดบ่งนี้ ณ วันที่ 16 ส.ค. ท่านต้องรู้หรือควรรู้ว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ชื่อยี่ห้อโคโรนาแวค ผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ผมไม่ได้โจมตี ไม่ได้ด้อยค่า แต่ข้อมูลเป็นแบบนั้น ข้อมูลล้วนๆ ว่ามันใช้ไม่ได้ ความปลอดภัยในการฉีดไขว้ก็ยังไม่มี แล้วท่านเอาคนไทยเป็นหนูทดลอง ท่านเคยบอกไม่ใช่หรือว่าจะไม่ใช้คนไทยเป็นหนูทดลอง”
ต่อมา นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นประท้วงว่า ผู้อภิปรายมีข้อมูลเยอะ แต่พูดเรื่องวัคซีนซ้ำกับผู้อภิปรายหลายคน เอาข้อมูลมาแค่บางเปเปอร์ ไม่ครบถ้วนว่าป้องกันการป่วยได้จริงหรือไม่ จะทำให้ประชาชนเกิดความกังวลในการฉีดวัคซีน โดย นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วินิจฉัยว่าการอภิปรายยังอยู่ในประเด็นของการใช้อำนาจรัฐมนตรี มีประเด็นซ้ำก็ไม่เป็นไร ส่วนการตอบชี้แจงรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาต้องชี้แจงเอง
จากนั้น นายแพทย์วาโย กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลที่นำมาเป็นข้อมูลใหม่ล่าสุด เท่าทันสถานการณ์โควิดที่เป็นสายพันธุ์เดลตา รวมถึงยอมรับแล้วว่า วัคซีนซิโนแวคก่อนหน้านี้พอใช้ได้ แต่ถ้ามีข้อมูลจากนี้รัฐมนตรีมาชี้แจงตอบได้ อยากฟัง โดยสรุปคือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่และอำนาจในการดูแลสุขภาพของประชาชน ในการจัดหาซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ละเว้นการปฏิบัติโดยที่รู้หรือว่าควรรู้อยู่แล้ว เพราะมีกรรมการ มีอาจารย์ต่างๆ ที่รายล้อมรอบตัวให้ข้อมูลเต็มไปหมด และท่านจะต้องย่อมเล็งเห็นผลว่าสิ่งที่ทำ ทำให้คนเสียชีวิต
“วันนี้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เชื่อเหลือเกินว่าในอีกไม่กี่วัน วันเสาร์ที่เราจะลงมติกัน ท่านก็คงจะได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภาฯ แห่งนี้ และวันนี้ก็ไม่ใช่ศาลยุติธรรม แต่ผมเชื่อว่าข้อมูลต่างๆ ที่มีปรากฏอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้ผมมาสรุปแบบนี้ด้วยซ้ำ ประชาชนเขาเห็น ทุกคนเห็น และท้ายที่สุดท่านอาจจะยังไม่ต้องก้าวสู่ศาลยุติธรรม แต่ตอนนี้ท่านได้ก้าวเข้าสู่ศาลประชาชนแล้ว และประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินผิดบาปของท่าน ด้วยเหตุผลนี้ ผมจึงไม่อาจที่จะลงมติให้ความไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้” โดย นายแพทย์วาโย จบการอภิปรายในเวลาประมาณ 15.40 น.