• ภาพความรุนแรงจากเหตุปะทะและสลายการชุมนุม ในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง แม้จะซาลง แต่ก็ทิ้งร่องรอยบาดแผลเอาไว้ให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้เห็น
  • ที่ชัดเจนที่สุด คือ กรณีของ นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ ไฮโซลูกนัท ในวันที่ 13 ส.ค. ที่ถูกยิงด้วยวัตถุชนิดหนึ่ง จนทำให้ตาบอด และอีกกรณีที่รุนแรงมากกว่า คือ เยาวชนอายุ 15 ที่ถูกยิงในม็อบ จนถึงขั้นกลายเป็นอัมพาตตั้งแต่ระดับคอที่ 2 ลงไป มีอาการสมองบวม นอนไม่รู้สึกตัว และยังต้องประเมินอาการทางสมองเป็นระยะ โดยยังไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของใคร
  • สัปดาห์นี้ยิ่งเพิ่มความร้อนแรงอีกครั้งเมื่อม็อบเดินเกมนอกสภา คู่กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอีก 5 รัฐมนตรี

สิ่งที่น่าจับตาคือการรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมของตำรวจในครั้งใหม่นี้ จะลบภาพเดิมของการสลายการชุมนุมในครั้งผ่านๆ มาได้หรือไม่ หลังจากถูกกระแสสังคมมองว่าหลายครั้งยังทำเกินกว่าแหตุ ทั้งการดักซุ่มยิงบนทางด่วน หลบอยู่หลังตู้คอนเทนเนอร์ และการยิงแก๊สน้ำตา เข้าที่พักอาศัยของประชาชนทั่วไป เพียงแค่ต้องการสลายการชุมนุม ของกลุ่มมวลชนที่ออกมาขับไล่พล.อ.ประยุทธ์

...

หลักการสากลในการสลายการชุมนุมที่ทั่วโลกปฏิบัติ รูปแบบเป็นอย่างไร

ดร.พัชร์ นิยมศิลป ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการชุมนุมสาธารณะและวิชาเสรีภาพในการชุมนุมกับกฎหมาย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักการสากลในการสลายการชุมนุมของมวลชน ต้องยึดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ไทยเป็นภาคี ที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุม เพราะรัฐธรรมนูญไทยแทบจะลอก ข้อ 21 ของ ICCPR ในเรื่องสิทธิเสรีภาพมาจากสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว มาแทบทั้งสิ้น

โดย General comments ฉบับที่ 37 ได้ให้คำอธิบายของกฎหมาย ไว้ว่า เรื่องเสรีภาพต้องเป็นแบบสงบปราศจากอาวุธ และเป็นการแสดงออกในที่สาธารณะ ตั้งแต่ 2 คนขึ้น โดยมีการแสดงออกถึง message (ข้อความ) บางอย่าง ห้ามมีความรุนแรง และห้ามมีอาวุธในการแสดงเสรีภาพ ซึ่งได้รับการรับรองโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติแล้ว โดยรัฐก็ต้องมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพทั้งตัวผู้ชุมนุมเองและผู้อื่นด้วย จึงต้องมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อมาถ่วงดุล

แต่หากรัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตามหลักสากล?

จะได้รับผลกระทบ 2 ด้านคือ ในระดับประเทศ และในประเทศ

โดยในระดับประเทศ จะให้เรื่องการบังคับใช้สิทธิมนุษยชน เป็นหน้าที่ของรัฐไทย แต่หากไม่มีการคุ้มครองตามสิทธิ เสรีภาพ เมื่อถึงคราวการประชุมระดับนานาชาติ เครดิตของรัฐบาลและการลงทุนของต่างชาติอาจจะลดลงได้ เหมือนที่ไทยเคยมีเรื่องปฏิวัติรัฐประหาร ก็มีผลกระทบต่อการขายสินค้าในประเทศบางอย่าง และได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่

ส่วนในประเทศ อาจจะต้องถูกตรวจสอบ เช่น ตำรวจตรวจสอบกันเองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด แต่หากไม่ปฏิบัติตาม ศาลจะเป็นผู้บอกว่าควรทำอะไรต่อไป

“ถ้าถามว่าไม่ปฏิบัติตามหลักสากลอาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น ไปเรื่อยๆ เป็นสเตป ฉะนั้น เจตนาตามหลักสากล ไม่ว่าจะเรื่องการใช้กำลัง เรื่องเกณฑ์ในการชุมนุมยังไงให้สงบเพื่อจำกัดเรื่องความรุนแรง ถ้าผู้ชุมนุมไม่ยึดหลักชุมนุมโดยเสรีภาพโดยสงบ ก็จะเป็นการชุมนุมที่รุนแรง เหมือนกันถ้าตำรวจไม่ยึดหลักการใช้กำลังในการควบคุมตามหลักสากล คุณก็จะตกกรอบการใช้ความรุนแรง อาจจะทำให้ต่างฝ่ายต่างแรงใส่กัน ผู้ชุมนุมแรงขึ้น ตำรวจแรงขึ้น จนถึงจุดเดือด จนถึงระเบิด และจะเป็นการชุมนุมที่ไร้การควบคุม” ดร.พัชร์ กล่าว

ทะลุแก๊ส เป็นผลิตผลของตำรวจที่สร้างขึ้น

Escalation of Force คือการใช้กำลังแบบขั้นบันได ดังนั้นต้องดูว่าตำรวจจะจัดการอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจไทยมีการใช้เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง ด้วยการถอยร่นไปอยู่ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ แทนการประจันหน้า ที่สามเหลี่ยมดินแดง แต่ก็มีจุดหลุด คือตำรวจขึ้นหลังรถกระบะไปไล่ยิงเพื่อควบคุมผู้ชุมนุมหลังเวลาเคอร์ฟิว

“ผู้ชุมนุมที่ดินแดง ผมเชื่อเลยนะ ทะลุแก๊ส เป็นผลิตผลของตำรวจเหมือนกัน ที่ตำรวจสร้างขึ้นมา ฉะนั้นคนที่จบได้ คือ ตำรวจ ก่อนที่จะเป็นทะลุฟ้า คือเขารู้ตัวอยู่แล้ว จึงแยกเป็นทะลุแก๊ส จึงเห็นภาพการชุมนุมของทะลุฟ้าที่ผ่านมาเป็นภาพความสงบ มีการควบคุม แต่พอมาดูทะลุแก๊ส มันเห็นภาพชัดอันนึงยังตาม ICCPR แต่อันนึงไม่ตาม มันเป็นเรื่องของการเอาคืนของการแก้แค้น จะจบยังไง ตำรวจต้องถอยเรื่องการใช้กำลังก่อน และเลือกใช้มาตรการกับคนที่ใช้กำลังเท่านั้น และจำเป็นต้องได้สัดส่วน” ดร.พัชร์ กล่าว

กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ยิงเข้าหาบุคคลอันตราย

การที่ตำรวจระบุว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล เหมือนการโกหกหน้าตาย จึงต้องอธิบายว่าถือตามหลักสากลตามที่นานาชาติถืออยู่หรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีของ นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ ไฮโซลูกนัท ที่พบความผิดปกติ เพราะตามหลักการ การยิงกระสุนยางจากที่สูงลงมาที่ต่ำนั้นทำไม่ได้ ส่วนการยิงแก๊สน้ำตา จะไม่ยิงเข้าหาบุคคล แต่ปัจจุบันมีการยิงเข้ากลางม็อบ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เมื่อดูจากบาดแผลของไฮโซลูกนัท ก็มีความเป็นไปได้ว่าถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตาและเหมือนยิงมาจากทางด่วน

กระบองฟาดใส่หน้า คือ พยายามฆ่า

หลักสากล หากมีกรณีบาดเจ็บ หน้าที่ในการพิสูจน์จะอยู่ที่ตำรวจ ว่าปฏิบัติตามหลักสากลหรือไม่ ไม่ใช่การผลักภาระไปที่ผู้ถูกละเมิด ดังนั้นใครเป็นคนยิงและใช้อาวุธชนิดไหน ตำรวจต้องเป็นคนตอบ หากพิสูจน์ไม่ได้ ตำรวจจะเป็นฝ่ายผิด

“กรณีอื่น การใช้ลูกซองยิงระยะประชิด ยิงท่อนบนของร่างกาย หรือใช้กระบองฟาดไปที่ศีรษะ หากมีการจับกุมแล้ว แล้วใช้กระบองไปฟาดใส่หน้า อันนี้พยายามฆ่า กระสุนปืนยิงหัว อันนี้ก็พยายามฆ่า กระสุนยางยิงในระยะใกล้ ต่ำกว่า 15 เมตร กะโหลกแตกได้ ไม่ตายก็พิการ ยิงใช้กระสุนก็จะชัดเจน พยายามฆ่าอย่างแน่นอน” ดร.พัชร์ กล่าว

เอาผิดใครได้บ้าง

ปัจจุบันมีการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซ้อนทับกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จึงต้องยึดหลักของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คือ ตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี ไล่ลงมาจนถึงผู้ปฏิบัติงาน แต่ก็มีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่อยู่ หากปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ก็จะไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา แต่หากพบว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริต ก็สามารถฟ้องได้ โดยสามารถใช้ภาพบันทึกเหตุการณ์จากสื่อมวลชนที่เข้าไปทำข่าวในการชุมนุมได้ เนื่องจากมีการรายงานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นตำรวจต้องไม่กั้นสื่อออกจากพื้นที่

ส่วนการชุมนุมเมื่อมีการประกาศยุติของแกนนำแล้ว แต่ยังมีการชุมนุมต่อ ความผิดจึงจะอยู่ไปที่ตัวบุคคลแทน จึงต้องดูว่าการชุมนุมต่อเป็นแบบสงบหรือเลือกปะทะกับเจ้าหน้าที่ อีกทั้งตำรวจต้องดูว่าใครเป็น aggressor (ฝ่ายรุกราน) ที่แท้จริง เพื่อเลือกใช้การควบคุมกับคนเหล่านี้เท่านั้น จะใช้กับคนที่สงบไม่ได้

ไม่มีแกนนำทำให้ตำรวจเดาทางยากขึ้น

ดร.พัชร์ ยังกล่าวด้วยว่า การมีแกนนำย่อมดีกว่า แต่คนที่เป็นแกนนำก็เหมือนกับการก้าวขา 1 ข้างเข้าคุก เพราะอย่างน้อยก็ต้องถูกตั้งข้อหาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คือ พ.ร.บ.จราจรทางบก หรือ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง คนจึงไม่อยากเอาตัวเองมาเสี่ยง เพราะเมื่อมาเป็นแกนนำ ส่วนใหญ่ถูกจับกุมหมด เช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และไผ่ ดาวดิน และคนอื่นๆ แต่สถานการณ์การชุมนุมก็ยังไม่สามารถยุติความรุนแรงได้ เพราะตำรวจไม่สามารถจะไปเจรจากับใครได้ จึงเกิดม็อบที่ไม่มีแกนนำเกิดขึ้น และทำให้ตำรวจเดาทางยากขึ้น

“รู้สึกเสียใจและเสียดาย ความจริงการชุมนุมมันน่าจะสงบได้ แต่พบว่าบริหารไม่เป็นเอง ทั้งตำรวจและผู้ชุมนุม เพราะระยะหลังมีการใช้กำลังและเสียวินัยเยอะซึ่งอาจจะเกิดจากความกดดัน และผู้บังคับบัญชาไฟเขียว แต่ไม่ได้หมายความว่าทำอะไรผู้ชุมนุมไม่ได้ หากเจออาวุธก็ต้องจับ เพราะจะพิจารณาว่าการชุมนุมจะสงบหรือไม่สงบ จะดูที่เจตนาผู้ชุมนุม หากมาไม่สงบ ต้องดำเนินคดี ตำรวจทำถูกแล้วแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎการใช้กำลัง การกระโดดถีบรถจักรยานยนต์ที่ขับมานั้นทำไม่ได้เพราะถือว่าเป็นเจตนาฆ่า และถือว่าเป็นเจตนาที่เล็งเห็นผล” ดร.พัชร์ กล่าว

ม็อบเดินทางไปบ้านนายกฯได้ ไม่ผิด

เรื่องเสรีภาพ ตัวผู้ชุมนุมมีสิทธิเลือกสถานที่และเวลาได้ เพราะเป็นเรื่องสิทธิการชุมนุม และสอดคล้องกับการแสดงออกแบบมี message (ข้อความ) ของเรื่องนั้นๆ อยู่ เช่นการไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมถึงไปบ้านพักนายกรัฐมนตรี ซึ่งสามารถเดินทางไปได้ แต่มีข้อห้าม 3 ที่ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ไม่สามารถเดินทางไปได้ คือ ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และศาล โดยต้องห่างจากรั้วประมาณ 50 เมตร แต่หากเป็นพื้นที่เอกชนทำได้อยู่แค่นอกรั้ว หากเกินเข้าไปถือว่าเป็นการบุกรุก เช่นกรณีเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2553 ที่กลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางไปบ้านพัก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อเทเลือด เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

ตำรวจกลายเป็นตัวล่อ ม็อบมาก็เอาคืน

แต่การที่ผู้ชุมนุมเดินทางไปบ้านนายกฯ ที่อยู่ในค่ายทหาร แล้วเจ้าหน้าที่มีการตั้งด่านสกัด นำตู้คอนเทนเนอร์ไปตั้งบนทางสาธารณะ ถือเป็นการแทรกแซงหรือไม่ ในเมื่อบ้านพักของนายกฯ มีรั้วรอบขอบชิดของค่ายทหารชัดเจนอยู่แล้ว เหมือนไปเล็งเห็นผลว่าจะเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น อีกทั้งการกระทำดังกล่าวยังทำให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนเดือดร้อน

ขณะที่สถานการณ์การชุมนุมในปัจจุบันพบว่ามาไกลกว่าจุดเดิม เพราะเมื่อตำรวจตั้งด่านจุดไหนจะมีการปะทะกันเกิดขึ้น เพราะกลายเป็นตัวล่อ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินส่วน เหมือนการเอาคืน แก้แค้น ระบาย จากการปฏิบัติของภาครัฐที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะผู้ชุมนุมมีการสูญเสียจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งเรื่องครอบครัวและงาน จึงต้องการเอาคืนรัฐบาล ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ยากกว่าการชุมนุมทั่วไป และถือเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะไม่มีเจตนาจะมาสงบตั้งแต่ต้น ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมวิ่งตามหลักสากล หรือภาครัฐไม่มีการควบคุมเรื่องนี้ อาจเห็นภาพเช่นเดียวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว

ผู้เขียน : Supattra.l

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun