การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในขณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่มโหฬารที่สุด เพราะนอกจากนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีรวม 6 คนแล้ว ฝ่ายค้านยังโหมโฆษณาว่าจะรณรงค์ให้ประชาชนเข้าร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา และอาจจะมีกลุ่มต่างๆออกมาชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีตามท้องถนน
เท่านั้นยังไม่พอ แม้แต่โทนี วู้ดซัม ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศด้วยว่าจะร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจากต่างประเทศ ฝ่ายค้านประกาศว่าต้องล้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในความผิดฐานล้มเหลวในการบริหารประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวิกฤติโควิด
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นมาตรการสำคัญสูงสุดของรัฐสภา ในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐบาล ในประชาธิปไตยระบบรัฐสภาจึงหวังว่าจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่มีการเล่นการเมืองน้ำเน่าหรือการเมืองสกปรก หรือมีการแจกกล้วย แม้การเมืองจะไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร
แต่นักการเมืองที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย จะต้องทำให้ประชาชนเลื่อมใสมีศรัทธาในนักการเมือง ที่อ้างว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่มีการซื้อเสียงประชาชน หรือซื้อ ส.ส.จากพรรคอื่นอย่างที่พูดกันว่าชอบจับปลาในบ่อคนอื่นหรือพรรคอื่น
หรือใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือมุ่งแสวงหาประโยชน์โดยการทุจริต กลายเป็นเหยื่อของกลุ่ม “อำนาจนิยม” ที่ไม่เลื่อมใสในประชาธิปไตย จะหยิบยกขึ้นมาชี้ให้ประชาชนเห็น อ้างว่าประชาธิปไตยก็ไม่ได้วิเศษวิโส แต่มีการโกงกินแบบประชาธิปไตย
คนไทยผู้ศรัทธาประชาธิปไตย ได้เรียกร้องขอการเมืองที่ดี การเมืองที่สะอาด โปร่งใส ไร้การทุจริต มาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ เริ่มต้นด้วยการเรียกร้อง “การพัฒนาการเมือง” ให้เป็นประชาธิปไตย แต่ได้มาแค่รูปแบบ ตามด้วยการเรียกร้องขอ “ปฏิรูปการเมือง” แต่อาจเป็นการเรียกร้องที่ผิดที่
...
เนื่องจากผู้มีอำนาจที่ถูกเรียกร้อง อาจไม่เลื่อมใสศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่นผู้มีอำนาจไม่ยอมให้ประชาชนชุมนุมโดยสงบ และตำหนิว่าการเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็อ้างว่าไม่เหมาะสม ทั้งๆที่เป็นเสรีภาพของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย.