คนไม่เชื่อมือ นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้นำไทยกำลังเผชิญ” มุมคิดที่ นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สะท้อนให้เห็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

หลังจากที่ ผอ.ศบค.เจอแรงเสียดทานในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงเริ่มตั้งเค้า ระบบสาธารณสุขถูกตั้งคำถามว่าใกล้ล่มสลาย

วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติสังคมตามมาติดๆ ไปเพิ่มดีกรีวิกฤติการเมืองให้ร้อนระอุขึ้น

จนถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงภาวะผู้นำและศรัทธาต่อผู้นำ

นายสติธร บอกว่า ปกติผู้นำในระบอบประชาธิปไตย มีหลักคิดข้อหนึ่ง คือ “ผู้นำที่เชื่อมือ” ถึงก้าวไปเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้

นายกฯเคยเป็นผู้นำรัฐประหารเข้ามา เชื่อว่าประชาชนเชื่อมือในฐานะ ผบ.ทบ.ในขณะนั้น บุคลิกท่าทางดูมีภาวะผู้นำ แต่ความเชื่อมืออยู่คงทนแค่ไหนขึ้นอยู่กับการทำงาน

ก่อนหน้านี้ประชาชนอาจยังให้อภัย เพราะเชื่อมือผู้นำ รู้จักตั้งแพทย์ที่เก่งและเชี่ยวชาญ เป็นทีมที่ปรึกษา ก่อนออกเป็นมาตรการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขและแจกงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถูกตามจังหวะ

นายกฯถึงเอาตัวรอดได้ในปี 63 บนกระแสความนิยมเสื่อมลงเยอะ

แต่ได้ผลงานควบคุมสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด พยุงเอาไว้

พอเผชิญกับสถานการณ์ในปี 64 ตัวช่วยของนายกฯที่เคยทำได้ดีอย่างกลไกกระทรวงมหาดไทย ระบบสาธารณสุขก็เริ่มหย่อน ตอนนี้ระบบสาธารณสุขเริ่มรับมือไม่ไหว และนายกฯไม่ได้เก่งด้านนี้อยู่แล้ว ประชาชนที่เชื่อมือนายกฯก็เริ่มตั้งคำถามแล้วมันจะไปรอดได้อย่างไร

การควบคุมกลไกกระทรวงมหาดไทยก็เช่นกัน ประชาชนเชื่อมือนายกฯน่าจะทำได้ดี ในการเชื่อมกับท้องถิ่น แต่ตอนนี้มันไม่ช่วยอะไร ยังไปเพิ่มปัญหาให้อีก บทบาทไม่เข้มแข็งเหมือนปี 63

...

รวมถึงแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าตามแนวตะเข็บชายแดนยังป้องกันไม่ได้ อ้าวแบบนี้จะเชื่อมือนายกฯได้อีกหรือ ความเชื่อมือขึ้นอยู่กับฝีมือ ถ้าคุณมีต้นทุน ถึงเวลาได้ทำงานจริงคุณทำได้หรือไม่

ภาพเหล่านี้ทำให้ความ “เชื่อมือ” นายกฯลดลงไป

ยังไม่นับรวม “ผู้นำที่คนเชื่อถือ” เวลาพูดถึงผู้นำต่างประเทศ ประกาศมาตรการอะไรหรือทำอะไร ประชาชนจะเชื่อถือ เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ชัดเจน พูดแล้วจบ ไม่กลับไปกลับมา นโยบายที่คลุมเครือ

พอผู้นำพูดปุ๊บต้องชัดเจน ประชาชนที่สับสนก็ได้รับคำตอบ

จุดนี้นายกฯขาดความน่าเชื่อถือ

ตอนนี้พ่วงไปถึงการสื่อสารบกพร่อง ข้อมูลมีหลายชุด ผู้นำไม่สามารถบอกได้ว่าข้อมูลชุดไหนถูกต้อง ให้ประชาชนเชื่อในทิศทางเดียวกัน

บางทีข้อมูลถูกต้อง แต่มาช้าตามโครงสร้างของ ศบค. นั่นคือปัญหาของซิงเกิลคอมมานด์ ทำงานจาก ศบค.ชุดเล็กไป ศบค.ชุดใหญ่ ยังมี ครม.อีก ทำให้ข้อมูลการตัดสินใจล่าช้า ปกติมันต้องเร็ว

โลกยุคนี้ต้องสื่อสารกับประชาชนด้วยความรวดเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้คนเสพข้อมูลที่ไม่เป็นทางการไปก่อน สายงานบังคับบัญชาเพิ่งตัดสินใจ ประชาชนก็รู้สึกได้ว่า ศบค.ออกข่าวเพื่อกลบความจริงอะไรหรือเปล่า

ประชาชนไม่เชื่อถือ เพราะข้อมูลทางการล่าช้า

“สุดท้ายไปพ่วงวิธีการสื่อสารสไตล์นายกฯ ไม่ตอบโจทย์ภาวะวิกฤติ ประชาชนเอาไปเปรียบเทียบกับผู้นำต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ซึ่งเริ่มพูดจากการแสดงความรู้สึก การให้ข้อมูล ขอความร่วมมือ ตบท้ายโดยการให้กำลังใจ”

แม้ช่วงหลังๆ นายกฯปรับการพูดให้มีลำดับ มีเนื้อหามากยิ่งขึ้น ดึงมืออาชีพมาช่วยเขียนสคริปต์ แต่ยังไม่เป็นธรรมชาติ ถูกประชาชนมองว่าไม่จริงใจ

โดยเฉพาะช่วงหลังๆถูกมองว่าในภาวะวิกฤติ เวลาผู้นำสื่อสารมันต้องจบ

แต่สไตล์การสื่อสารที่ไม่เข้าถึงใจ ประชาชนลังเลว่ารัฐบาลเล่นสงครามข้อมูล จะหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา

ทุกวันนี้ผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะ ผู้นำผ่านการสื่อสาร พูดแล้วประชาชนรู้สึกว่าผู้นำคนนี้เข้าใจปัญหา เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของประชาชนแล้ว แต่แก้ได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

อีกมุมหนึ่งเกิดจากประเทศไทยมีปัญหาขัดแย้งทางความคิด จึงเกิดปัญหาดังกล่าว นายสติธร บอกว่า อันนี้เป็นเหตุผลหลัก ทั้งภาวะไม่เชื่อมือผู้นำ ไม่เชื่อถือผู้นำ และไม่เชื่อมั่นผู้นำ ซึ่งเมื่อมองไปในอนาคต ถ้ายังมีนายกฯคนนี้อยู่จะแก้วิกฤติโควิดได้หรือไม่

สาเหตุหลักผู้นำที่คนไม่เชื่อมือ ไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อมั่น ทำไมยังอยู่ได้

แถมแนวโน้มเปลี่ยนผู้นำได้ยากมาก เพราะการเมืองถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว

กลายเป็นปัจจัยบวกทำให้ผู้นำอยู่ได้ แต่ทำให้ประเทศยิ่งอยู่ในวิกฤติขัดแย้งร้าวลึก

อีกฝ่ายยอมรับและทนได้กับการบริหารที่ไร้ภาวะผู้นำ

ถ้ารัฐบาลนี้ไปกลัวอีกขั้วหนึ่งจะเข้ามามีอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ

เท่ากับว่าประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติโควิดปะทะวิกฤติผู้นำ ยังมีวิกฤติการเมืองอีก นายสติธร บอกว่า วิกฤติการเมืองแบบนี้ เป็นฐานรองรับวิกฤติผู้นำ ปัญหาตอนนี้เราเปลี่ยนผู้นำไม่ได้ เปลี่ยนยาก

เพราะโครงสร้างข้างบน นายทุน ขุนศึกที่รายล้อมผู้มีอำนาจ ยังไม่เดือดร้อน

ยังอยู่ได้กับระบบแบบนี้ ฝ่ายค้านก็ไม่มีพลังพอเปลี่ยนรัฐบาล

เพราะฐานะเสียงประชาชนสนับสนุนพอๆกันทั้ง 2 ขั้ว

มีข้อเสนอให้ผู้นำรับมือแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านต่างๆอย่างไร นายสติธร บอกว่า จุดอ่อนทำให้ภาวะผู้นำเป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่เกิด จากทำงานโดยไม่ฟังใคร และข้อมูลในพื้นที่ไม่มีโอกาสเสนอทางออกให้ถึงหูนายกฯจริงๆ

ควรเปิดสมองให้โล่งแบบน้ำในแก้วไม่มีสักหยด รับฟังคนให้มากขึ้น

รับฟังข้อมูลที่ถูกคนและถูกต้อง ก่อนตัดสินใจให้สมดุลระหว่างด้านสาธารณสุขกับด้านเศรษฐกิจ

หรือตั้งทีมงานเข้ามาเสริมช่วยกรองข้อมูลอีกชั้น โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน

นอกจากนี้ นายกฯยังมีปัญหาการสื่อสารต่อสาธารณะ ไม่สามารถแสดงภาวะผู้นำ ได้ทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ

ควรรีบหาบุคคลที่น่าเชื่อถือทั้ง 2 ด้านพูดแทนนายกฯ โดยมีนายกฯเป็นผู้สนับสนุน

เพื่อพูดเชิงนโยบายภาพใหญ่ นำเสนอเป็นแผนการ เพื่อให้ประชาชนมีความหวัง

จากนั้นค่อยๆแก้ทีละจุด ปรับวิธี การบริหาร วันนี้มี ศบค.ชุดเล็ก ศบค.ชุดใหญ่ ทีมเศรษฐกิจยังใช้ได้อยู่หรือไม่ นายทหารจากนั่งหัวโต๊ะควรออกมานั่งข้างๆ เปิดให้คนที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและโควิดเข้ามามีบทบาทแทน

เพื่อให้ประเทศอยู่รอดในภาวะที่มีผู้นำคนเดิม

นายกฯถูกอีกขั้วการเมืองมองว่าอยู่ในภาวะผู้นำศรัทธาตก แต่ประเทศไทยกำลังเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ถ้าแก้วิกฤติผู้นำไม่ได้จะนำไปสู่อะไร นายสติธร บอกว่า วิกฤติศรัทธาในภาวะผู้นำในโลกยุคปัจจุบันสำคัญมาก

ผู้นำคนไหนที่ประชาชนไม่ศรัทธาย่อมอยู่ยาก ถ้าแก้วิกฤติผู้นำไม่ได้ ประเทศพังแน่นอน

แต่วิกฤติเกิดขึ้นทั่วโลก แม้ผู้นำของเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบด้านต่างๆ ฝากความหวังในอนาคตไม่ได้ แต่โลกไม่ได้หยุดนิ่ง เชื่อมโยงถึงกันหมด ประเทศที่พร้อมก็อยากเปิดเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อน ประเทศไทยย่อมได้อานิสงส์ไปด้วย

อาทิ การเปิดเมืองภูเก็ต ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสูง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าประเทศต่างๆพร้อมบินมาลงภูเก็ต ผู้ประกอบการภูเก็ตก็พร้อม

บนสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าระบบสาธารณสุขรองรับได้อีกกี่วัน

มองไม่เห็นว่านายกฯจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้

สุดท้ายระบบเศรษฐกิจโลกยังช่วยหล่อเลี้ยงประเทศไทยได้อีกทาง.

ทีมการเมือง