แม้จะถูก ส.ว.คว่ำไปแล้วรวดเดียว 12 ร่าง เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ยังมีกลุ่มการเมืองภาคประชาชนรับไม้ต่อ ด้วยการรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ 156,921 ชื่อ ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามประชาชน หวังว่า ส.ว.จะไม่ขัดขวาง มิฉะนั้นจะถูกรณรงค์ต่อต้าน

กลุ่มการเมืองภาคประชาชน ที่จับมือกันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปเรียกชื่อว่า “กลุ่มรีโซลูชัน” มีแกนนำประกอบด้วยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัค ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการกลุ่มไอลอว์ ซึ่งร่างแก้ไขเคยถูกคว่ำมาแล้ว

เป้าหมายของกลุ่มรีโซลูชัน ไม่ได้มุ่งแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว เพราะเคยรณรงค์ในหัวข้อ “หนึ่งชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. แต่แค่แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยากเย็นแสนเข็ญอย่างยิ่ง เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ดีไซน์เพื่อพวกเรา” จึงห้ามแก้ไข

ห้ามแก้ไขเด็ดขาด ได้แก่ มาตรา 272 ว่าด้วยการให้ 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ให้มีอำนาจเลือกหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี และห้ามประชาชนเลือกตั้ง ส.ส.ร. มาจัดทำ รัฐธรรมนูญใหม่ เรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ต้องลงประชามติ

คำวินิจฉัยของศาลระบุว่า ถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องให้ผู้มีสิทธิ์ทั้งประเทศ กว่า 51 ล้านคน ออกเสียงประชามติ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” เพราะประชาชนเป็น “ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” แสดงว่า แม้แต่ ส.ส.และ ส.ว.ทั้งสภา 750 คน ก็ไม่มี “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”

...

คำว่า “ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับ การเมืองไทย เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าในระบบรัฐสภา สมาชิกรัฐสภามีอำนาจในการออกกฎหมาย และแก้ไขกฎหมาย รวมทั้งกฎหมายสูงสุด ส่วนประชาชน แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แต่ของจริงไม่ใช่

ในโลกแห่งความเป็นจริง อำนาจทางการเมืองของไทย มักจะเป็นของหัวหน้าคณะรัฐประหาร นานๆทีถึงจะเป็นอำนาจของนักการเมือง การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ กลุ่มการเมืองภาคประชาชน น่าจะเข้าชื่อเสนอรัฐบาลให้จัดทำประชามติ เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” มาช่วยดลบันดาลให้สำเร็จ.