เลขาธิการ สมช. วอน ประชาชนเข้มมาตรการส่วนบุคคลป้องกันโควิด-19 ให้มากขึ้น ยัน ไม่ได้โทษประชาชน เชื่อ ภาครัฐทุ่มเท ปชช.ร่วมมือ ควบคุมสถานการณ์ได้ ยัน การทำงาน ศบค.ตอบโจทย์ ปัดตอบ "พิธา" เสนอให้ยุบหน่วยงาน 

วันที่ 2 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่าเราประเมินว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะสูงขึ้นและพยายามเร่งรัดเรื่องฉีดวัคซีนให้เร็วและมากขึ้น ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ไปอีกสักระยะ ต้องขอความร่วมมือประชาชนทำตามมาตรการส่วนบุคคล โดยเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยมากขึ้น เพราะหลังปิดแคมป์คนงานและแรงงานต่างด้าวก็อยู่นิ่งกับที่ แต่จำนวนตัวเลขที่มากขึ้นอาจจะเกิดจากการเคลื่อนไหวของบุคคลทั่วไปในสังคมแล้ว ที่ระบุเช่นนี้ไม่ใช่เพราะตัวเลขสูงขึ้นแล้วโทษประชาชน แต่เป็นการขอความร่วมมือ

เมื่อถามว่าถ้าตัวเลขยังพุ่งสูงขึ้น มาตรการป้องกันจะเข้มขึ้นหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า คงไม่เข้มกว่านี้ เพราะตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และศบค.ห่วงความเดือดร้อนของประชาชน และคิดว่ามาตรการที่ใช้อยู่น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งภาครัฐอาจจะต้องลงรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและประชาชนมากขึ้น ถ้าทั้ง 3 ส่วนให้ความร่วมมือ เช่นภาครัฐจริงจัง จากเดิมที่จริงจังอยู่แล้วก็ต้องมาดูในรายละเอียดกันมากขึ้น เพราะบุคลากรทางการแพทย์ ทุ่มเท และเหนื่อยล้า จึงต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการ และประชาชน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่เชื้อ

เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่จะให้ผู้ป่วยที่รอเตียง กระจายไปรักษานอก กทม. หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในทางระบบยังไม่ถึงขนาดนั้น กระทรวงสาธารณสุข และกทม. พยายามเพิ่มจำนวนเตียงอยู่ วันนี้มณฑลทหารบก ที่ 11 ได้เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยสีแดงและสีเหลืองแล้วในส่วนที่ไม่สามารถหาเตียงได้ ก็เดินทางกลับไปรักษาในภูมิลำเนา ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ นอกจากนั้นจะพิจารณาแนวทางรักษาตัวที่บ้าน แต่ต้องมีระบบรองรับไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ติดเชื้ออยู่บ้านเฉยๆ ที่ยังไม่เริ่มเพราะ กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. เป็นห่วงว่าอาจทำให้เสี่ยงอาการรุนแรงขึ้น จึงต้องมีระบบรองรับให้เกิดความปลอดภัย เมื่อถามว่า หากจำนวนติดเชื้อไปถึงหลักหมื่น ทุกอย่างพร้อมรองรับหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เราคิดไว้ทุกอย่าง ทั้งเพิ่มจำนวนเตียง รวมถึงการแยกกักตัวที่บ้าน คาดว่าถ้าภาครัฐทุ่มเท สถานประกอบการประชาชนร่วมมือน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ โดยในเดือน ก.ค.นี้วัคซีนจะเข้ามา 10 ล้านโดส เมื่อฉีดวัคซีนแล้วอาจจะป้องกันอาการรุนแรงได้มากขึ้น

...

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอให้ยุบ ศบค. เพราะทำงานล้มเหลว พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขอไม่ตอบในเรื่องนี้ เราพยายามทำงานเต็มที่ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา จะพิจารณาตามความเหมาะสม เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจว่าการทำงานของ ศบค. ที่ผ่านมา สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มั่นใจ การทำงานของศบค. ไม่ได้ทำงานเฉพาะหน่วยงาน แต่ทำงานร่วมกันทุกส่วน เราฟังจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เสนอมาอย่างไรจะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าสามารถบังคับใช้ตามที่เสนอได้หรือไม่ เราทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ตัดสินใจแค่ ศบค. ที่อยู่ในทำเนียบฯ ที่เดียว เชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาได้ เพียงแต่สถานการณ์ระบาดเปลี่ยนแปลงเร็ว ศบค. จึงต้องปรับวิธีรองรับกับเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของบุคลากรด่านหน้าที่ที่ระบุว่า วัคซีนสองเข็มไม่เพียง ต้องมีเข็มที่สาม พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ทาง ศบค. ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข ต้องเรียนว่าวัคซีนมีจำกัด คนที่ยังไม่ได้รับเข็มแรกยังมีอยู่ ต้องว่าไปตามลำดับ ดูแลให้ฉีดเข็มแรกให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ก่อน จากนั้นจึงไปที่เข็มที่สอง เราต้องฉีดให้ประชาชนให้ครบก่อน