ศบค. ชี้ เป้าหมายเปิดประเทศ 120 วัน ปรับเปลี่ยนแผนยืดหยุ่นได้ ขอทุกจังหวัดสำรวจทบทวนความพร้อม เผย อยู่ระหว่างหารือนำร่องกลุ่มเกาะฝั่งอันดามัน - อ่าวไทย หากภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ไปได้ดี
วันที่ 1 ก.ค. 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวประจำวันที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเน้นย้ำว่าทุกมาตรการเมื่อมีการประกาศ บังคับใช้ จะต้องมีการกำกับติดตามเข้มงวด ถ้าภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน ทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนร่วมมือกันอย่างแข็งขันและสามารถทำได้ดี จะเป็นโครงการนำร่องที่หลายจังหวัดตอนนี้เริ่มเสนอเข้ามา เช่น สมุยโมเดล ในอีก 15 วันข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีการหารือในส่วนของนำร่องกลุ่มเกาะฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ขณะที่โซนอ่าวไทย สมุย พะงัน และเกาะเต่า เป็นต้น ส่วนพื้นดินก็เตรียมเสนอแผน พยายามปรับมาตรการให้ภาคเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ เช่น เชียงใหม่, บุรีรัมย์ กำลังทำงานกันอย่างหนัก
ทั้งนี้ การที่ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ได้รับการอนุมัติและดำเนินการในวันนี้มีการเตรียมงานอย่างหนักมาหลายเดือน ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีข้อเสนอว่าจังหวัดหรือพื้นที่อื่นที่มีความตั้งใจจะพัฒนาเศรษฐกิจ อาจจะไม่ใช่เฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ขอให้ดูแบบประเมินตนเองแต่ละจังหวัด สถานการณ์โรคต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ และต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 70% ของประชากรพื้นที่ สามารถเริ่มร่างมาตรการเสนอพิจารณาได้
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เผยต่อไปว่า การประกาศทิศทางและนโยบายแต่ละครั้งมีความยากลำบาก เพราะทุกมาตรการที่ออกมามีความเห็นต่าง บางฝ่ายรู้สึกว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่มีความพร้อม แต่คณะทำงานพยายามนำเสนอมาตรการ เน้นย้ำว่าสามารถกำกับติดตามได้อย่างเข้มงวด ซึ่งคงให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันไม่ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกมีการแสดงความเห็นออกมาว่าในระยะยาวโรคโควิด-19 อาจจะยังไม่หายไปโดยเร็ว อาจจะยังคงอยู่กับโลกของเรา มีคนเริ่มพูดกันว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น แต่จะไม่ก่อให้เกิดการระบาดที่รุนแรง หรืออัตราผู้เสียชีวิต ผู้เจ็บป่วยรุนแรงเป็นภาระต่อโลก อาจคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ที่ยังเป็นโรคที่มาเป็นฤดูกาล สาธารณสุขยังต้องเฝ้าระวังและมีมาตรการควบคุมโรค
...
อย่างไรก็ตาม ศบค. โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการเปิดประเทศ การผ่อนปรนมาตรการ ยังมีความจำเป็น ถือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ไม่เฉพาะในภาคธุรกิจ ทั้งการท่องเที่ยว การดำเนินกิจการกิจกรรม โรงงาน สภานประกอบการ มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดต้องสอดคล้องกับบริบทของความอยู่รอดของประชาชนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมด้วย มีการพูดคุยกันว่าความเสี่ยงต้องอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ เช่นที่หลายคนมีความกังวลหลัง ผอ.ศบค. ประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน นับคร่าวๆ จะอยู่ที่ประมาณ ต.ค. - พ.ย. ซึ่งแผนจำต้องมีเป้าหมาย ทิศทาง และขณะที่มีการประกาศตัวเลขคือ 120 วัน ไม่ได้เป็นการตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว มีการหารือกับหลายภาคส่วนก่อนประกาศเป้าหมาย
“สิ่งสำคัญคือมีการเน้นย้ำเสมอว่าในระหว่าง 120 วันจากนี้ไป จะมีการกำกับติดตามมาตรการการขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ อย่างเข้มงวด เพราะถ้าใน 120 วัน มีการพิจารณาจากคณะทำงาน คณะที่ปรึกษา ว่ายังไม่พร้อม แผนก็จะมีการปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้แน่นอน แต่การไม่มีแผนเป็นไปไม่ได้ การประกาศ 120 วัน ถือเป็นทิศทางที่จะกำหนด ขับเคลื่อนทุกภาคส่วน เช่น ทุกจังหวัดทุกพื้นที่โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตอนนี้ทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องกลับมาสำรวจตัวเองว่าอีก 120 วันพื้นที่เราพร้อมหรือไม่ ไม่ต้องไปดูว่าประเทศไทยพร้อมหรือไม่ ถ้าวันนี้คำตอบคือยังไม่พร้อมต้องทบทวนว่าอะไรที่จำเป็นต้องทำ ที่ผ่านมาอะไรยังหละหลวม มีตลาด โรงงาน แคมป์คนงานก่อสร้างกี่แห่ง สัปดาห์นี้จะเห็นว่ามาตรการแต่ละจังหวัดเข้มงวด เพื่อร่วมด้วยช่วยกันให้แผนเป็นไปได้ พร้อมให้กำลังคณะทำงาน ขอบคุณพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจังหวัดออกประกาศมาตรการใดๆ ก็ให้ความสนใจและร่วมมือ เชื่อว่าในระยะยาวเราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้”