ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง ศบค. ที่ 8/2564 แนวทางมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร สอดรับเปิดประเทศ เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. 64

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 8/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 12) สั่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีเนื้อหาดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2564 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2564 โดยมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 4/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2564 คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 5/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2564 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 7/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2564 กำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการในสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด โดยให้เริ่มดำเนินการและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป นั้น

...

เพื่อให้การปฏิบัติงานตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว และตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคแนบท้ายคำสั่งโดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

นอกจากนี้ ท้ายประกาศมีการระบุถึงรายละเอียดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการในสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 8/2564 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 รวมถึงระบุในหมายเหตุบางส่วนว่า

การแยกกักผู้เดินทาง ในกรณีที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อคัดกรองแล้วพบว่าผู้เดินทางมีอาการทางเดินหายใจหรือมีไข้ หรือกรณีที่ผลตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ยืนยันว่าพบเชื้อ หรือกรณีผู้เดินทางมีอาการทางเดินหายใจหรือมีไข้ระหว่างถูกกักกันหรือถูกคุมไว้สังเกต ให้ส่งตัวผู้เดินทางไปยังสถานพยาบาลที่ทางราชการกำหนด

การเริ่มนับระยะเวลากักกันตัว : เมื่อผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (ตั้งแต่เริ่มอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ)

  • ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ถึง 18.00 นาฬิกา ให้นับวันที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นวันแรกของการกักกัน (Day 1)
  • ตั้งแต่เวลา 18.01 นาฬิกา ถึง 00.00 นาฬิกา ให้นับวันถัดจากวันที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นวันแรกของการกักกัน (Day 1)

กระทรวงกลาโหม สนับสนุนการควบคุม กำกับ ดูแล และการจัดการสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนดในช่วงระยะแรกของการเปลี่ยนผ่านจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 หรือจนกว่าศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เห็นว่าเป็นห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อเนื่อง และเกิดความมั่นคงด้านสาธารณสุข.