หลังการชุมนุมของประชาชนช่วงปลายปีที่แล้ว วันที่ 23-24 กันยายน 2563 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ รัฐบาล 1 ฝ่ายค้าน 5 และประชาชน 1 ฉบับ สุดท้ายวันที่ 18 พฤศจิกายน รัฐสภาลงมติรับหลักการเพื่อศึกษาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. สมชาย แสวงการ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจและหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ซึ่งคำวินิจฉัยในวันที่ 11 มีนาคม ระบุว่า ทำได้ แต่ต้องผ่านการทำประชามติก่อน
กระทั่ง 17 มีนาคม 2564 รัฐสภาลงคะแนนเสียงมติวาระสาม ปรากฏว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ไม่ลงคะแนนเสียงและงดออกเสียง มีเพียงสองคนคือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ พิศาล มาณวพัฒน์ ที่ลงมติเห็นชอบ
ส.ว. บางรายไม่ประสงค์ลงคะแนนเนื่องจากขัดคำวินิจฉัยศาล ผลสุดท้ายมีคะแนนเห็นชอบ 208 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 206 เสียง และ ส.ว. 2 เสียง ที่ประชุมไม่เห็นชอบให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเพิ่มหมวด 15/1 ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ สุดท้ายความตั้งใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญจึงถูกตีตกไปอีกครั้ง
เมื่อการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับดูเป็นไปได้ยาก ต้องผ่านหลายขั้นตอน ตั้งแต่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่าต้องทำประชามติ ซึ่งกฎหมายประชามติระบุว่า หากมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ขึ้นมาใหม่ กฎหมายประชามติจะต้องออกใหม่ตามมาด้วย จะใช้กฎหมายประชามติปี 2550 หรือปีก่อนๆ ไม่ได้ และต้องใช้เวลาทำกฎหมายประชามติใหม่ ไหนจะอุปสรรคเรื่องการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดังนั้น หลายความเห็นจึงชี้ไปว่า หากต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด ก็จะต้องแก้แบบรายมาตรา
...
ขณะที่พระราชบัญญัติประชามติที่จะนำไปสู่การจัดตั้ง ส.ส.ร. อยู่ในวาระที่ 3 ไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทางสภาฯ จึงเตรียมพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคการเมืองในวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564
ทว่าพอมีการเสนอให้แก้รายมาตราขึ้นมาอีกครั้ง กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่า เรื่องที่นักการเมืองอยากให้แก้ไข ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนเท่าไหร่นัก ไม่ได้ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เนื่องจากท่าทีของหลายฝ่ายมุ่งแก้แต่เรื่องอำนาจและผลประโยชน์เสียมากกว่า ไม่ได้แตะต้องหัวใจสำคัญต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ
ตกลงแล้ว การผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญรายมาตราของหลายพรรคการเมือง รวม 13 ร่างที่เข้าสู่สภาฯ ต้องการแก้ประเด็นอะไรกันบ้าง
‘1 ฉบับ 5 หมวด 13 มาตรา’ ข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ

วันที่ 2 เมษายน 2564 ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นหนึ่งในผู้เปิดประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าทางพรรคได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเรียบร้อยแล้ว
ไพบูลย์ ระบุว่า พลังประชารัฐมักถูกมองว่าเป็นผู้ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ เวลานี้ได้เป็นผู้ยื่นให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญ โดยยื่นข้อเสนอแก้ 13 มาตรา ที่จัดหมวดได้ใน 5 ประเด็น คือ 1. เรื่องสิทธิเสรีภาพ 2. พระราชบัญญัติงบประมาณ 3. การทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา 4. อำนาจของวุฒิสภา และ 5. การแก้ไขระบบการเลือกตั้ง
ไพบูลย์ ยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชน เป็นหนทางสู่การยุติความขัดแย้ง และกำหนดการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. กับ ส.ว. ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่อง สิทธิและเสรีภาพ
เสนอให้แก้มาตรา 29 เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แก้ไขมาตรา 41 หากเกิดกรณีที่บุคคลหรือชุมชนใดมีเรื่องฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ บุคคลหรือชุมชนนั้นจะต้องได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐ จากเดิมทีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กล่าวเพียงว่า ประชาชนมีสิทธิฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับผิดจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำ ไม่ได้ระบุว่ารัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
นอกจากนี้ยังเสนอให้แก้ มาตรา 45 ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่อง พระราชบัญญัติงบประมาณ
พลังประชารัฐเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 144 ในแง่การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องการให้ใช้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 168 วรรค 5-9 ระบุให้ ส.ส. วิเคราะห์และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ. มาถึงสภาผู้แทนราษฎร ส่วนในแง่ ส.ว. ต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ. มาถึงวุฒิสภา แต่จะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ โดยมาตรา 168 กล่าวว่า
“ถ้าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าววุฒิสภาไม่เห็นชอบ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 148 วรรค 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
“ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ส.ส. จะแปรญัตติเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการไม่ได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่าย ซึ่งไม่ใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เงินส่งใช้ต้นเงินกู้, ดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย”
“รัฐสภาต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หากหน่วยงานใดเห็นว่างบประมาณรายจ่ายได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอ สามารถเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการได้โดยตรง”
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่อง การทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
พลังประชารัฐเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 185 ที่ระบุว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ผู้อื่น หรือพรรคการเมือง ทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากมองเห็นปัญหาแง่อุปสรรคและการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. และแนะให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 111 เข้ามาแทนที่
การแก้ดังกล่าวจะส่งผลให้ ส.ส. และ ส.ว. สามารถติดต่อส่วนรายการหรือหน่วยงานรัฐ ไพบูลย์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อความสะดวกในการบริการประชาชน
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่อง อำนาจวุฒิสภา
เรื่องอำนาจของ ส.ว. พลังประชารัฐเสนอให้แก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 270 ให้ จากเดิมที่ ส.ว. จะมีอำนาจในการดำเนินการติดตาม เสนอแนะ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปฏิรูปประเทศในหมวด 16 และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อแก้รัฐธรรมนูญส่วนนี้แล้ว ส.ส. จะเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นดังกล่าวด้วย
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่อง การแก้ไขระบบเลือกตั้ง
ระบบเลือกตั้ง คือ ประเด็นสำคัญที่บางพรรคมีความเห็นไม่ตรงกัน พลังประชารัฐเสนอให้การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งต่อไปควรเป็นแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และต้องแก้ในหลายมาตรา ทั้ง 83, 85, 86, 90, 91, 92 และ 94 โดยเฉพาะมาตรา 83 ที่ระบุว่า สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน
ไพบูลย์ ระบุถึงการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ตามแบบรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และต้องการเปลี่ยนระยะเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งให้เป็นภายใน 30 จากเดิมที่มีระยะเวลา 60 วัน นับจากวันลงคะแนน
การแก้เรื่องระบบเลือกตั้งต้องแก้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา พลังประชารัฐต้องการให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำเป็นส่งผู้สมัครแบบเขตแล้วไม่น้อยกว่า 100 เขตเลือกตั้ง
เมื่อพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละหนึ่งของคะแนนรวม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือกตั้ง และไม่ให้นำคะแนนดังกล่าวมาคำนวณหาสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
การแก้รัฐธรรมนูญในมุมพรรคร่วมรัฐบาล

วันที่ 16 มิถุนายน 2564 พรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ทั้ง ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ยื่นหนังสือเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมด 8 ร่าง โดยประชาธิปัตย์เสนอให้แก้ 6 ร่าง ในประเด็นสิทธิของประชาชน 4 มาตรา คือ มาตรา 29 ว่าด้วยสิทธิในกระบวนการยุติธรรม มาตรา 43 ว่าด้วยสิทธิชุมชน มาตรา 46 ว่าด้วยสิทธิผู้บริโภค และมาตรา 72 ว่าด้วยสิทธิในการจัดสรรที่ดินทำกิน
การแก้ระบบเลือกตั้งของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นแบบเดียวกับพลังประชารัฐและเพื่อไทย ที่ต้องการให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน นอกจากนี้ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ยังต้องการตัดอำนาจ ส.ว. ตามมาตรา 272 ที่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนกับเพื่อไทยและก้าวไกล
ด้านพรรคภูมิใจไทยเสนอเพิ่ม 2 ประเด็น คือเพิ่มมาตราใหม่เข้าไปในรัฐธรรมนูญ มุ่งเน้นบทบาทหน้าที่รัฐที่จะต้องดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าราว 36,000 บาทต่อปี
อีกเรื่องคือการแก้มาตรา 65 ยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์โลก
ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมลงชื่อกับทุกร่างของประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย เว้นเพียงการแก้มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า หากไม่มี ส.ว. ร่วมลงชื่อ ทำอย่างไรร่างก็ไม่ผ่านอยู่ดี ก่อนมองว่าประเด็นการตัดสิทธิ ส.ว. อาจต้องผ่านการทำประชามติก่อน ที่มีหลายขั้นตอนและกินระยะเวลานาน
พรรคเพื่อไทยต้องการแก้เกือบทั้งหมด เว้น หมวด 1 หมวด 2

พรรคเพื่อไทยมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมคือการร่วมหาทางออกแก่ประเทศ
วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงประเด็นการยื่นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่า การแก้ไขมาตรา 256 ทำเพื่อให้ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเว้นในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
รัฐธรรมนูญหมวด 1 ‘บททั่วไป’ มาตรา 1-5 บัญญัติถึงประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย โดยพระมหากษัตริย์ ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงเรื่องการคุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเมื่อไม่มีบทบัญญัติบังคับหรือวินิจฉัยกรณีใด ให้เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญหมวด 2 ‘พระมหากษัตริย์’ มาตรา 6-24 บัญญัติถึงพระราชฐานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ อาทิ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ หรือ พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี หรือการระบุถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
พรรคเพื่อไทยยังเสนอให้ยกเลิกมาตรา 270 ที่ระบุให้ ส.ว. ตามมาตรา 269 มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และต้องการแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจของ ส.ว. ในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลอีกสองพรรค โดยเพื่อไทยมองว่า การตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ จะทำเกิดกติกาที่มีความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงมาตรา 279 ที่มอบอำนาจแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะต้องถูกยกเลิก
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทางพรรคได้เสนอเพิ่มการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ตกหล่น เช่น การแสดงออก สิทธิได้รับการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาในมาตรา 29
ผลักดันให้รัฐธรรมนูญมีการเพิ่มสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิของประชาชนในการต่อต้านการทำรัฐประหาร และการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม มาตรา 45 ถึง 47 ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน
อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่เป็นประเด็นและถูกพูดถึงมากที่สุดในเวลานี้ คือการแก้มาตรา 83 ที่เหมือนกับพรรคพลังประชารัฐ คือ เสนอให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ที่รู้จักกันในสโลแกน “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ”
วันที่ 20 มิถุนายน 2564 นพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคในครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นเพื่อประโยชน์ของประชาชน ให้มีกติกาชัดเจน เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
วันที่ 22 มิถุนายน 2564 สุทิน คลังแสง ระบุถึงการเตรียมอภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 23-24 มิถุนายน ว่า พรรคฝ่ายค้านเตรียมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะผลักดันเรื่องการแก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ทางฝ่ายค้านเตรียมผู้อภิปรายทั้งหมด 15 คน หากการอภิปรายไม่เสร็จสิ้นในวันที่ 24 มิถุนายน จะมีการขอต่อเวลาถึงวันที่ 25 มิถุนายน
การรวมกลุ่มของพรรคก้าวไกล, คณะก้าวหน้า, Re-Solution และ iLaw

หลังรัฐสภาโหวตคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 6 เมษายน 2564 วันเดียวกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 พรรคก้าวไกลรวมถึงประชาชนบางกลุ่มนอกสภา มีความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเช่นกัน
พรรคก้าวไกล, คณะก้าวหน้า, กลุ่ม รี-โซลูชัน (Re-Solution) และ โครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (iLaw) ร่วมกันเสนอการแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีใจความสำคัญ คือ ล้มเสาหลัก 4 อย่าง ที่ค้ำยันอำนาจให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกกันว่า ล้ม, โละ, เลิก และ ล้าง
‘ล้ม’ ส.ว. ด้วยการยกเลิกหมวด 7 รัฐสภา เปลี่ยนเป็น ‘หมวด 7 สภาผู้แทนราษฎร’ ให้กลายเป็นสภาเดี่ยว ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการและเลขาธิการคณะก้าวหน้า เคยกล่าวถึง ส.ว. เอาไว้ว่า “ไทยสามารถเป็นสภาเดี่ยวได้ เพราะในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภาคือสภาแห่งการสืบทอดอำนาจ” ดังนั้น 250 ส.ว. จะต้องถูกยกเลิก
‘โละ’ ศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ จัดการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จัดสรรอำนาจในการตรวจสอบใหม่ และจำกัดขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนขึ้น
‘เลิก’ แผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อมอบอิสระแก่พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งให้จัดตั้งรัฐบาล มีสิทธิโอกาสได้ทำตามนโยบายที่ทางพรรควางไว้
‘ล้าง’ มรดกของคณะรัฐประหาร เป็นที่มาของชื่อแคมเปญ ‘ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์’ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อในการแก้รัฐธรรมนูญ และต้องการ 50,000 รายชื่อภายในสิ้นเดือนมีนาคม ผลักดันให้การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลายเป็นโมฆะ นำคณะรัฐประหารทั้งหมดมาดำเนินคดี และ ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน สามารถตั้งคณะผู้ตรวจการอย่างเท่าเทียม
20 มิถุนายน 2563 พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย กรณีเสนอการจำกัดอำนาจ ส.ส.ร. ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เนื่องจากมองว่ารัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด
พิจารณ์ ระบุว่า พรรคก้าวไกลอยากขอให้สมาชิกรัฐสภาร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.ด้วยการออกเสียงประชามติ ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 2 และ 3 เวลานี้ร่างถูกพิจารณาถึงมาตราที่ 55 เหลือเพียง 12 มาตรา จึงจะครบ 67 มาตรา และรอการพิจารณาเพื่อลงมติในวาระ 2 ซึ่งที่ประชุมสามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งวันได้
ทางพรรคก้าวไกลยังเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันจับตาดู ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล รวมถึง ส.ว. ที่อาจเตะถ่วงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติฉบับนี้อีกครั้ง
ด้านคณะก้าวหน้ามองว่า การที่ ส.ส. พรรครัฐบาลพยายามแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา จะส่งผลให้ ‘ระบอบประยุทธ์’ สามารถสืบทอดอำนาจได้ต่ออีกหนึ่งวาระ เลยต้องการยื่นร่างรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งฉบับที่ทำร่วมกับประชาชนะเข้าไปประกบในสภา
อ้างอิง: