เมื่อมีการพูดถึงการยุบสภา หรือการเลือกตั้งใหม่ การเมืองไทยก็ยิ่งเป็นการต่อสู้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ระหว่างฝ่ายอำนาจนิยมกับอิสรภาพนิยม ระหว่างประชาธิปไตยครึ่งใบกับประชาธิปไตยเต็มใบ เริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญที่โต้เถียงกันอยู่ขณะนี้คือการคงไว้หรือยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
กลุ่มพรรคฝ่ายค้านกับพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. 250 คน ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าคงไว้จะเท่ากับว่าให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช. มีสิทธิเลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำที่ขัดหลักการของระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
แต่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำรัฐบาล และ ส.ว.บางส่วนยืนกรานห้ามแตะต้องเด็ดขาด มิฉะนั้น จะควํ่าร่างแก้ไขทุกฉบับที่แก้ไขในประเด็นนี้ เพราะถือเป็น “การลุแก่อำนาจ” ส.ว.บางคนอ้างว่านายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของ ส.ส.เสียงข้างมาก ส.ว.ไม่เกี่ยว ถ้าไม่เกี่ยวจะหวงอำนาจนี้ไว้ทำไม
มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี “ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน แม้รัฐบาลจะอยู่ได้ด้วยเสียงข้างมากของ ส.ส. แต่พรรคการเมืองที่ต้องการเป็นรัฐบาล จะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีที่มั่นใจว่า ส.ว.สนับสนุนคู่แข่งตั้งแต่ในมุ้ง
ประเด็นที่ว่าควรให้สมาชิกรัฐสภาแต่งตั้ง มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นเรื่องที่โต้เถียงกันมา ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะครบ 89 ปีในวันมะรืน คือวันที่ 24 มิถุนายนนี้ เพราะยุคนั้นรัฐธรรมนูญใช้มี ส.ส. 2 ประเภท ประเภท 1 จากการเลือกตั้ง ประเภท 2 จากการแต่งตั้ง มีอำนาจเท่าเทียมกัน
...
ฝ่ายผู้มีอำนาจยืนยันให้มี ส.ส.ประเภท 2 โดยอ้างว่าขณะนั้นคนไทยส่วนใหญ่จบประถมศึกษา (ป.4) ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่ง จึงขอเป็นบทเฉพาะกาลให้มี ส.ส. ประเภท 2 สิบปี แต่เมื่อครบสิบปีแล้วก็ ขยายบทเฉพาะกาลมาเรื่อยๆ แต่ในระยะหลังเรียก ส.ส.ประเภท 2 เป็น “ส.ว.” ทั้งๆ ที่การศึกษาคนไทยขณะนี้ไม่ได้ จบแค่ ป.4
แต่มีคนไทยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เต็มบ้านเต็มเมือง แต่ผู้มีอำนาจก็ยังต้องการ “ส.ส.ประเภท 2” หรือ ส.ว.เป็นตัวช่วยในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร ไม่ยอมปล่อยมือให้ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ผ่านมาเกือบ 90 ปี ก็ยังโต้เถียงกันอยู่.