- จับตา รัฐสภาเปิดแก้รัฐธรรมนูญ ปมเสนอตัดสำนาจ 250 ส.ว.เลือกนายกฯ ยังหวังอาจไม่ถูกตีตกก็เป็นได้ ชี้ หากยังปล่อยให้เลือก ก็เจอครหา "สืบทอดอำนาจ" อยู่ดี
- อีกประเด็นร้อน "กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ" พรรคเล็กต่อต้าน ไม่อยากให้ใช้ เหตุหวั่น "สูญพันธุ์" ส่วนพรรคใหญ่ หนุนเต็มกำลังจริงหรือไม่ และเพราะอะไร
- "กกต.-กฎหมายพรรคการเมือง" กลายเป็นตำบลกระสุนตก! เล็งต้องแก้ไข หลังถูกกาหัว อ้างเป็นต้นตอทำให้การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ทั้งยังเมินแก้ไข

แล้ว พรุ่งนี้ 22 มิ.ย. ก็ได้กฤษ์ เปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อถกผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ และร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ระหว่าง 22-24 มิ.ย. โดยจะเป็นการถก พ.ร.บ.ประชามติ ก่อน แล้วจึงต่อด้วยร่างการแก้ไข รธน.
หลายคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องการเสนอร่างแก้ไข รธน.มาตั้งแต่แรก ก็คงต้องยอมรับว่า งานนี้อาจถึงกับเกิดความสับสน เพราะเอาจริงไม่รู้ว่า พรรคการเมืองพรรคไหน เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญอะไรกันบ้าง ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้แยกประเด็นการเสนอร่างแก้ รธน.แต่ละพรรค ออกมาให้ดูกันชัดๆ แล้ว ไปสำรวจกัน ก่อนสภาจะเริ่มถกร่างแก้รัฐธรรมนูญตามกำหนด 23 มิ.ย.นี้
...
ใครเสนออะไรบ้างไปดู!

ร่างแก้ รธน.ของ พรรคพลังประชารัฐ
เสนอโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก่อนหน้าก็ให้สัมภาษณ์อย่างเชื่อมั่นว่า ร่างของ พปชร.ผ่านแน่ แถมฟันธง แก้ ม.256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ไปไม่รอด
แก้ไข 13 มาตรา ใน 5 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ
ประเด็นที่ 2 แก้ไขระบบการเลือกตั้ง (บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ)
ประเด็นที่ 3 การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ
ประเด็นที่ 4 แก้ไขอุปสรรคในการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว.
ประเด็นที่ 5 อำนาจวุฒิสภา ให้ ส.ส.มีหน้าที่ร่วมปฏิรูปประเทศ

นายไพบูลย์ เชื่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ พปชร.เสนอนี้ หากเกิดขึ้นและสำเร็จ "จะเป็นประโยชน์กับประชาชน และเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความขัดแย้ง ไม่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินในการทำประชามติ และที่สำคัญคือใช้เวลาน้อย"

ร่างแก้ รธน.ของฝ่ายค้าน
พรรคเพื่อไทย ชู 5 ประเด็น ขอบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
1. การแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 (มีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อบางส่วน) ข้อนี้ท่าทางจะเป็นหมัน
2. การแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นร่างที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านลงชื่อกันอย่างพร้อมเพรียง
3. การแก้ไขเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 มาตรา 29 เรื่องการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม มาตรา 45 และ 47 เรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
4. การแก้ไขมาตรา 83 ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ให้มี ส.ส.แบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แทนระบบจัดสรรปันส่วนผสม
5. ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 275 และ 279 เรื่องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการยกเลิกอำนาจ คสช.

มาที่ ร่างกลุ่ม รี-โซลูชัน (Re-Solution) ไอลอว์-กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า, คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล เป็นการรวมตัวกันของ 4 องค์กร เปิดตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา พร้อมแคมเปญ ล่ารายชื่อประชาชน 5 หมื่นชื่อ เพื่อเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่า "ฉบับรื้อระบอบประยุทธ์"
ล้ม ส.ว. ยกเลิก "หมวด 7 รัฐสภา" และเปลี่ยนเป็น "หมวด 7 สภาผู้แทนราษฎร" แทน โดยคงเหลือสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว พร้อมกับเพิ่มบทบาทและกลไกให้กับสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน ในการตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี

โละ ศาลรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม "หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ" เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ พร้อมกับจำกัดขอบเขตหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเคร่งครัดมากขึ้น
เลิก ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อให้อิสระรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนด
ล้าง มรดกรัฐประหาร ด้วยการเพิ่มบทบัญญัติในหมวด 16 ว่าด้วย "การลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร

ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล
ร่างแก้ไข รธน.ยื่นโดย 3 พรรคร่วมรัฐบาล (ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเข้ายื่นร่วมกัน เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 8 ร่าง
ประกอบด้วย ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ 6 ร่าง ได้แก่
1. ประเด็นแก้ไขมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชน 4 มาตรา
2. ระบบเลือกตั้ง ให้มี ส.ส.เขต 400 คน, ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เลือกตั้งโดยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
3. เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ
4. ประเด็นแก้ไข มาตรา 256
5. ประเด็นการตรวจสอบการกระทำที่ผิดจริยธรรมของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
และ 6. การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

ส่วน พรรคภูมิใจไทย เสนอ 2 ประเด็น คือ 1. เรื่องปากท้องของประชาชนโดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 1 มาตรา เรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้รัฐมีบทบาทหน้าที่เพิ่มขึ้นในเรื่องหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าให้กับประชาชน เพราะเชื่อว่าคนไทยทุกคนควรจะต้องมีหลักประกันรายได้ที่อยู่เหนือเส้นความยากจน ซึ่งจากการคำนวณพบว่าอยู่ที่ 36,000 บาทต่อปี ดังนั้น จะต้องบรรจุคำนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ
2. แก้ รธน.มาตรา 65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าควรที่จะต้องมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ประเทศและโลก
ส่วนเรื่องการแก้ไขมาตรา 272 เรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคภูมิใจไทย มีหลักการเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์เลยตัดสินใจนำไปร่วมเป็นร่างเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

ชาติไทยพัฒนา ร่วมลงชื่อกับทุกร่าง เว้นแก้มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ให้เหตุผลว่า ถ้า ส.ว.ไม่ลงชื่อสนับสนุนด้วย ก็ไม่ผ่าน อีกทั้งประเด็นการตัดอำนาจ ส.ว.อาจจะต้องไปทำประชามติก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับการไปเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป.ได้เปิดใจกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ในทุกประเด็น ทั้งปม ส.ว.อาจไม่ยอมโหวตตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของตนเอง หรือจะเป็นประเด็นพรรคใหญ่หนุนกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วย เหตุหวั่นสูญพันธุ์

ร่าง รธน.ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เสี่ยงถูก ส.ว.ตีตก?
นายชินวรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ ผมก็ยังไม่ได้ยินจากใครนะครับ นอกจากคุณกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ก็ไม่ได้ถือเป็นตัวแทน ส.ว.อะไร ก็ต้องดูกันต่อไป เพราะการเสนอร่างคราวที่แล้ว ส.ว.ส่วนใหญ่เขาก็เห็นด้วยนะครับ เรื่องการตัดสิทธิ ส.ว.ไม่ให้เลือกนายกฯ เป็นเรื่องยอมรับได้ เพราะคราวที่แล้วไปตั้ง ส.ส.ร. เขายอมรับไม่ได้ แต่คราวนี้การตัดสิทธิ ส.ว.เลือกนายกฯ ผมเห็นว่าหลายท่านที่อภิปรายก็ยอมรับได้ เพราะ ส.ว.ก็ได้สิทธิการเลือกนายกฯ ไปครั้งหนึ่งแล้ว และโดยหลักสากล ส.ว.ก็ไม่ควรเลือกนายกฯ อยู่แล้ว เพราะถ้าเลือก ก็จะถูกข้อครหาว่า "สืบทอดอำนาจ" สรุปคือแก้รายมาตราได้ แต่แก้ รธน.ทั้งฉบับไม่ได้

บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ "ก้าวไกล" ไม่เห็นด้วย ส่วน พปชร. เพื่อไทย ปชป. หนุน อาจถูกมองว่า ทำเพื่อประโยชน์พรรคตัวเอง?
"มันก็แล้วแต่ครับ แต่พรรค ปชป.เราคิดเรื่องกฎหมายแก้ รธน. มาก่อนจัดตั้งรัฐบาลด้วยซ้ำไป เราไม่ได้คิดว่าเรามี ส.ส.เขตมาก แล้วเราจะเลือกระบบ 2 ใบ หรือเราไม่ได้คิดว่า เราไม่มี ส.ส.เขตเลย ไม่เอาระบบ 2 ใบ หรือเอาบัตร 2 ใบ แต่เราคิดในเรื่องหลักการว่าระบบไหนดีที่สุด ระบบรัฐธรรมนูญปี 60 มันเห็นมาแล้ว มันเป็นระบบที่ใช้สัดส่วนผสม มีปัญหาหลายเรื่อง" รองประธานวิปรัฐบาล กล่าว...

หนุนใช้ ระบบ รธน.ปี 40 ชี้ ทำพรรคการเมือง เข้มแข็ง
1. ส.ส.ในสภา 20 กว่าพรรค ตอนหาเสียงก็มีถึง 40 พรรค แล้วเวลาคิดคำนวณคะแนน มีพรรคปัดเศษ 10 กว่าพรรคอีก แล้วมันก็มีการกล่าวขวัญว่า "ซื้อเสียง" มากที่สุด เพราะเลือกใบเดียว แต่ถ้าเลือก 2 ใบ ประชาชนสามารถเลือกคน เลือกพรรค หรือเลือกทั้งคนทั้งพรรคได้ และระบบ รธน.ปี 40 ยังทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เราจะคิดแต่เรื่อง รธน.อย่างเดียวไม่ได้ ต้องคิดไปถึงกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ด้วย คิดไปถึงระบบ กกต.ด้วย

ยืนยัน ต้องแก้ รธน. เล็ง "กกต.-แก้กฎหมายพรรคการเมือง"
"เห็นไหมเลือกตั้งคราวที่แล้ว ไม่มีใครได้ใบแดงเลย ได้แต่ใบส้มที่เชียงใหม่ ในที่สุดศาลก็ตัดสินให้แพ้อีก กกต.ยังไม่คิดทำงานเชิงรุกเลย เราต้องมาปรับเรื่องนี้ อย่างเลือกตั้งท้องถิ่นคราวที่แล้วเขาพูดกันหนาหูทั่วประเทศ ว่ามีการซื้อเสียงกันมโหฬารเลย "เงินไม่มา กาไม่เป็น" กตต.ก็ "ไม่รู้ร้อนรู้หนาว" อันนี้ก็ต้องแก้ กฎหมายพรรคการเมืองก็ต้องแก้ ทำอย่างไรให้เป็นพรรคการเมืองทำประโยชน์ให้ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่พรรคการเมืองรวมกลุ่มผลประโยชน์ รวมกลุ่มของผู้มีอำนาจ แล้วในท้ายที่สุดก็มาใช้ อำนาจรัฐ อำนาจเงิน มาซื้อเสียงเกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง คนก็ไม่ยอมรับ ก็ต้องมาแก้ไขกันต่อไป" นายชินวรณ์ กล่าว...

งานนี้รอดูกันแบบไม่กะพริบตาก็แล้วกัน ว่าประชุมร่วมสองสภา ผ่าน พ.ร.บ.ประชามติ กับ ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ลงท้ายจะจบลงแบบไหน

แต่ที่แน่ๆ ญัตติแก้ ม.256 ของ "เพื่อไทย" ไม่สามารถบรรจุร่างเข้าระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภาแล้ว เมื่อ คณะที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ได้แถลงมติที่ประชุม เป็นร่างที่นําไปสู่จัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่แก่ไขรายมาตรา
ผู้เขียน : เดชจิวยี่
กราฟิก : Varanya Phae-araya