ความสับสนอลหม่านเกี่ยวกับปัญหาวัคซีน ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ต้น และยังไม่รู้จะจบอย่างไร สะท้อนถึงการเมืองที่ด้อยพัฒนา ไม่ปฏิรูป การบริหารประเทศที่ขาดธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใส ไร้ความรับผิดเอาแต่รับชอบ เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ปัญหานี้อาจแก้ได้ ด้วยการปฏิรูปการเมือง ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะนี้ มีหลายพรรคเตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ส่วนหนึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อนักการเมือง เช่น แก้ไขให้เปลี่ยนจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต จาก 350 เขต เป็น 400 เขต เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากใบเดียวเป็นสองใบ บางพรรคอ้างว่าขอแก้ไขให้ประชาชน ที่ฟ้องหน่วยงานรัฐมีสิทธิเสรี
นั่นก็คือสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย เทียบไม่ได้กับ “อำนาจ” ของประชาชน ที่ถูกคณะบุคคลยึดไปคืนให้เพียงบางส่วน เช่น ให้เลือกตั้ง แต่ไม่คืนอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ ไม่แตะอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรี ของ ส.ว.แต่งตั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบใหม่ พรรคร่วมรัฐบาลแยกกันตั้งเป็น 2 วง วงแรกเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยพรรคพลังประชารัฐ แก้ไขเป็นรายมาตรา เช่น มาตรา 144 และ 185 เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.ก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการ ร่วมทำโครงการใดๆของหน่วยราชการ แบบที่เคยเป็นคดีอื้อฉาว
อีกวงหนึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวตั้งตัวตี คาดว่าจะมีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กับพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ร่วมด้วย แต่พรรค ชทพ. แสดงท่าทีจะไม่เล่นด้วย เพราะมี ส.ส.แค่ 12 คน จะเปิดเสรีให้สนับสนุนร่างใดก็ได้ ส่วนหัวหน้าพรรค ภท. ประกาศ จะไม่แตะต้องอำนาจ ส.ว. ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของร่างแก้ไขของพรรค ปชป.
ส่วนพรรคฝ่ายค้าน ที่มีพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เป็นพันธมิตรสำคัญ ประกาศว่าจะเสนอจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเริ่มต้นด้วยการออกเสียงประชามติ แต่ร่างกฎหมายยังค้างเติ่งอยู่ในสภา โดยที่รัฐบาลไม่สนใจจะเร่งรัด แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พปชร.จะให้รัฐสภาเริ่มพิจารณา ในวันที่ 22 นี้
...
กลายเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสรี ใครใคร่เสนอ-เสนอได้ แต่แก้ยากระดับเอกอัครมหายาก หนทางเดียวที่ฝ่ายต้องการตัดอำนาจ ส.ว.จะแก้ไขได้ต้องขออำนาจบารมีประชาชนเป็นที่พึ่ง ใช้กำลังภายในเร่งออกกฎหมายประชามติ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศลง “เห็นด้วย” กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่.