เปิด “หมอชาวบ้าน” ฉบับ มิ.ย.64 ถึงคอลัมน์ บอกเล่าเก้าสิบ ของ นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ เรื่องชีวิตที่มีความหมาย ชีวิตที่สงบเย็น เป็นประโยชน์ กระทบใจโครมใหญ่ ชีวิตที่ต้องอยู่กับบ้าน ยามนี้ จะมีประโยชน์ตรงไหน จึงต้องอ่านต่อไปจนจบ

หมอเริ่มต้นว่า ชีวิตที่สงบเย็นกับชีวิตที่เป็นประโยชน์สองอย่างนี้มักจะไม่ไปด้วยกัน

ทั้งนี้ เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย อันประกอบด้วย “ประสาทเร่ง” กับ “ประสาทพัก” ซึ่งทำหน้าที่ในลักษณะตรงกันข้าม

ประสาทเร่ง เป็นระบบประสาทอัตโนมัติ ที่กระตุ้นให้ร่างกายทุกส่วนตื่นตัว นำพลังงานมาใช้ในการเผชิญ และจัดการกับสถานการณ์ต่างๆรอบตัว ทั้งเรื่องงาน และการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

หากประสาทเร่งทำงานมากเกิน ก็จะทำให้ร่างกายและจิตใจมีความเครียด ถ้าเครียดมากเครียดนาน ก็อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย เช่นโรคกระเพาะ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ นอนไม่หลับ เป็นต้น

ประสาทเร่ง เปรียบเหมือนระบบคันเร่งของรถยนต์ ซึ่งเร่งมากๆ ก็จะทำให้เครื่องร้อน รถวิ่งเร็วจี๋ถึงอาจเสียการทรงตัว หรือเกิดอุบัติเหตุได้

ประสาทพัก เป็นระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ทำหน้าที่ให้ร่างกายทุกส่วนได้พัก ผลิตพลังงาน และเก็บพลังงานไว้ใช้ต่อไป เปรียบเหมือนระบบเบรกของรถยนต์

ประสาททั้งสองทำงานในลักษณะตรงกันข้ามนี้ ก็เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกัน ทำให้ร่างกายมีความปกติสุข

เปรียบเหมือนการขับรถยนต์จำเป็นต้องรู้จักจังหวะในการเร่ง และการเบรกอย่างเหมาะเจาะสมดุล รถจึงจะไม่หยุดชะงัก และเครื่องยนต์ก็ไม่ร้อนเกิน สามารถวิ่งไปได้อย่างราบรื่น ปลอดภัย

...

(เขียนถึงตรงนี้ หมอมีภาพตาชั่ง ด้านหนึ่งประสาทเร่ง ต่อสู้กับความเครียด อีกด้าน ประสาทพัก พักผ่อนให้สบาย ให้ดูประกอบความเข้าใจ ว่าควรให้ความยุติธรรม กับระบบประสาทของตัวเอง อย่างไร)

ผู้ที่ทำงานเก่ง เป็นประโยชน์ มักจะแลกด้วยความเครียด จิตที่รุ่มร้อน เพราะประสาทเร่งทำงานมากเกิน จนข่มประสาทพัก

ดังตัวอย่างที่คนทำงานเก่ง มักจะหงุดหงิดงุ่นง่าน ขี้โมโห หัวร้อน เกรี้ยวกราดง่าย มีความเครียดทั้งกายใจ

ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีชีวิตที่สงบเย็น มักชอบอยู่แบบปลีกวิเวก มีความสุขอยู่กับตัวเอง มากกว่าขยันทำงาน เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

คนกลุ่มนี้มีประสาทพัก ทำงานข่มประสาทเร่งสมองส่วนหน้าที่แข็งแรง จะทำหน้าที่ควบคุมกำกับให้ประสาทเร่งกับประสาทพัก ทำงานอย่างเหมาะเจาะ สมดุล

ผู้ที่ใส่ใจฝึกฝนพัฒนาสมองส่วนหน้าเป็นประจำ ด้วยการบริหารกาย บริหารจิตและอารมณ์ บริหารปัญญา

ย่อมจะทำให้ประสาทเร่งกับประสาทพักทำงานสมดุลกัน มีชีวิตที่เป็นประโยชน์ บวกกับมีชีวิตที่สงบเย็น ท่ามกลางความวุ่นวายในสังคม กลายเป็นผู้ที่มีชีวิตที่มีความหมาย

หมอทิ้งท้ายข้อเขียนนี้ว่า หากปรารถนาจะมีชีวิตที่มีความหมาย จงหมั่นพัฒนาสมองส่วนหน้าหรือสมองมนุษย์เป็นประจำกันเถิด

ผมตัดทอน ข้อที่หมอแนะนำ บริหารกาย บริหารจิตและอารมณ์ บริหารปัญญาอย่างไร ออกไป เพราะพื้นที่ไม่พอ อยากรู้ว่า อารมณ์ ปัญญา บริหารยังไง? แนะนำให้ท่านไปหา “หมอชาวบ้าน” อ่านต่อกันเอง.

กิเลน ประลองเชิง