ความเห็นเกี่ยวกับ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ของ แสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม รองโฆษกพรรคกล้าที่มี กรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค มีมุมมองการจัดสรรงบประมาณที่สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในยุคของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ลดลงจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จาก 3.28 ล้านล้าน เหลือ 3.1ล้านล้านบาท เพราะข้อจำกัดของการกู้เงินมาสร้างสมดุลให้กับงบประมาณ ทำให้การจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติประเทศในปัจจุบัน
อาทิ งบการป้องกันประเทศ 199,820.7 ล้านบาท เป็นงบใช้จ่ายงานของกองทัพ ถึง 198,597.2 ล้านบาท ในเวลาที่ สถานการณ์บริเวณแนวชายแดน เกือบจะทุกด้านมีปัญหา แต่กลับ จัดสรรงบรักษาดินแดน แค่ 771.1 ล้านบาท รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับบุคลากรและการใช้จ่ายภายในกองทัพมากกว่า
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 จะส่งผลกระทบกับ แรงงานของประเทศ จะตกงานเพิ่มขึ้นกว่าเดิมตามรายการตัวเลขของ สภาพัฒน์ อยู่ที่ 7.6 แสนคน ภาคเอกชนคาดว่า จะมีกว่า 1 ล้านคน ขณะที่ กระทรวงแรงงาน ถูกตัดงบประมาณไปร้อยละ 28.7 ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ แสดงว่ารัฐบาลยังไม่เห็นความสำคัญของปัญหาวิกฤติแรงงานที่จะตามมา

คณะทำงานด้านสาธารณสุข ของพรรคกล้า ทพ.กันตพงศ์ ดีชัยยะ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบด้านสาธารณสุข ดังนี้ งบกลางปี ที่ลดลงมาเหลือ 11 หมวด มีการตัดหมวด ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ออกไป เข้าใจว่า รัฐบาลคงจะนำไปอยู่ในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ที่กำหนด วงเงินด้านสาธารณสุข ไว้เพียง 3 หมื่นล้านเท่านั้น
ปี 2564 มีการตั้ง งบด้านสาธารณสุข เอาไว้ 45,000 ล้าน จนถึงขณะนี้มีการเบิกจ่ายจริง 7,102 ล้าน หรือร้อยละ 15.78 เท่านั้น งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 355,000 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้วเพียง 69,117 ล้าน หรือร้อยละ 19.47 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการเงินการคลังของประเทศที่ไม่มีความชัดเจน
การใช้จ่ายจริงก็ยังมีปัญหา เช่น เงินเพิ่มพิเศษของบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ในการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 เดือนละ 1,000-1,500 บาท พบว่าค้างจ่ายมากว่า 1 ปี
งบลงทุนตามยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่มีงบอยู่ 338,547.6 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 10.9 ของงบประมาณถือว่าน้อยมาก และเมื่องบส่วนนี้นำไปจัดสรรให้กับแผนพัฒนาผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ที่ได้รับ 1,927 ล้าน หรือร้อยละ 0.3 สะท้อนให้เห็นภาพความเสียหายของธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่จะตามมา และชี้ให้เห็นถึงการไม่ใส่ใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกด้วย
สังคมไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่รัฐตั้งวงเงินงบประมาณเอาไว้รับมือแค่ 623 ล้านบาท จากงบยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมเอาไว้ถึง 733,749 ล้าน ว้าเหว่แทนผู้สูงอายุแบบเราๆ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th