เรื่องเล่าชีวิตเศรษฐีหรือคนดังทั้งหลายมักเริ่มต้นว่า “มาจากศูนย์” ความหมายก็คือมาแต่มือเปล่าๆ แต่หากจะเอามาเปรียบกับเรื่องเล่าของ “ยายสำอางค์” คงจะต้องเริ่มว่าชีวิตของยายเริ่มต่ำกว่าศูนย์

พอเกิดมาแบเบาะ ก็เป็นไข้หนักใกล้ตาย พ่อแม่อยู่แถวบางช้าง (อัมพวา) หมดใจจะเยียวยา อุ้มลงเรือพายเอามาทิ้งไว้ที่ศาลาพักศพ วัดบางน้อย (อ.บางคนที)

ตอนที่ยายสำอางค์ เล่าให้ เอนก นาวิกมูล ฟัง (พิมพ์ ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับเดือน พ.ค.2527) ยายพักในบ้านหลังเล็กๆ ข้างวัดบางแวก ซอยพาณิชย์ธน ย่านฝั่งธน แกอายุได้ 60 ปี

เรื่องของเด็กที่จะไม่ถึงที่ตาย ก็บังเอิญมีสองวณิพกพเนจร ยายใช้คำเรียกผีสางแม่บุญธรรม ชื่อแหวน ผีสางพ่อบุญธรรม ชื่อฤกษ์ แจวเรือจากเมืองเพชรบุรี มาแวะจอดท่าศาลาพักศพนั้น

แม่บุญธรรมเดินขึ้นมาเจอ ก็หันกลับไปบอกพ่อบุญธรรมว่า “ใครเอาผีมาทิ้งไว้” พ่อบุญธรรมเดินตามขึ้นมาดูรู้ว่า “ฉันยังไม่ตาย” ก็พอดี พวกยายพวกแม่ของฉันก็มา

เขาว่า “แหมอีเด็กคนนี้ ใจแข็งมันยังไม่ตาย”

พ่อแม่บุญธรรมฉันถาม “เด็กยังไม่ทันจะตาย ทำไมเอามาทิ้ง” “ก็มันจะตายแล้ว แกอยากได้ก็เอาไปเหอะ” พวกยายพวกแม่ว่าแค่นี้ก็เดินหายไป

พ่อบุญธรรมมีวิชา ปั้นดินแทนตัวฉันไว้ อุ้มฉันลงเรือ ทำวิชา ปรอทเปริด อะไรไม่รู้ล่ะรักษา เอาข้าวต้มร้อนๆป้อนใส่ปาก ตั้งแต่นั้นฉันก็ฟื้น

อายุได้สักขวบกว่าๆตาสองข้างก็เจ็บ เขาว่าเป็นโรคเกล็ดกระดี่ รักษาไม่หาย เด็กสำอางค์ก็ตาบอด

ที่พูดไว้ว่าชีวิตยายสำอางค์เริ่มต่ำกว่าศูนย์ ได้ชีวิตมาแล้วก็ตาบอด ก็ต้องเติมศูนย์ไปอีกตัวหนึ่ง

...

เติบโตขึ้นมาในเรือวณิพกพเนจร กลมกลืนกับชีวิตชาวเรือ ว่ายน้ำได้เก่งไม่แพ้เด็กตาดี ร่อนเร่ไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ซึมซับวิชาเพลงขอทานไว้ทุกท่วงท่าลีลา

เรื่องขุนช้างขุนแผน พระรถเมรี ลักษณวงศ์ ฯลฯ ยายสำอางค์ร้องประสานกับการตีโทนสลับฉิ่งได้คล่องแคล่ว

เอนก นาวิกมูล ชวนยายสำอางค์ ไปอัดเทปเพลงขอทานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ เขาบอกว่าเพลงขอทานจังหวะรวดเร็ว ฟังทันอกทันใจ ถึงคราวครวญตอนโศกเสียงยายสำอางค์ สั่นเครือแหบโหย

ตอนนางเมรีรำพัน หรือตอนนางเกษรจะถูกประหาร คนฟังก็ใจหาย หลายคนนั่งน้ำตาไหล

หลายถิ่นที่ที่ตระเวนไป มีหนึ่งแห่งที่ไม่เคยขาด ทุกเดือนสาม “ที่งานพระพุทธบาทสระบุรี” ที่นี่เป็นที่ชุมนุมที่วณิพกต่างถิ่นที่จะได้พบปะกัน

เจอแม่แท้ๆ ครั้งหนึ่ง ที่งานพุทธบาทนี่แหละ เรื่องที่ยายเล่า การพบแม่แท้ๆวันนั้น ไม่มีสายใยความรักระหว่างแม่ลูกผูกพันเหลืออยู่แล้ว

พูดเรื่องนี้ก็ต้องย้อนไปที่ครอบครัวพ่อแม่แท้ๆของยายสำอางค์ อีกที พอจับเค้าได้พ่อเป็นจีนไม่ยินดีที่ได้ลูกหญิง จึงยอมทิ้งให้ตาย ยายสำอางค์มีน้องชายพ่อเลี้ยงไว้คนหนึ่ง

ประเด็น เจอแม่ที่งานพระพุทธบาท แม่ไปเที่ยวงานหรือแม่เป็นคนอาชีพวณิพกด้วยกัน...ไม่ชัดเจน

เอนก นาวิกมูล เขียนเรื่องยายสำอางค์พิมพ์เป็นหนังสือมากกว่าสองเล่ม ชีวิตยายสำอางค์ วณิพกเพลงขอทาน ไม่ได้อับเฉาเศร้าเกินไป ฉากหวานๆก็มี แกมีแฟน (ตายไปแล้ว) สองคน ตอนเปลี่ยนชีวิตจากในเรือมาอยู่บ้าน ยังมีอยู่อีกคน

ปี 2536 แอ๊ด คาราบาว ออกเพลง “ยายสำอางค์” ชื่อเสียงยายโด่งดังรู้จักกันมากยิ่งขึ้น

เรื่องยายสำอางค์ พิสูจน์ว่า ทุกชีวิตที่เกิดมามีค่า พ่อแม่หรือใครหรือกระทั่งรัฐบาล ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะปล่อยให้ตาย จะหนึ่งชีวิตหรือพันชีวิต มีสิทธิ์ที่จะอยู่เท่าๆกัน.

กิเลน ประลองเชิง