แม้ระบบผูกขาดการจัดหาวัคซีน จะถูกทำลายลงไปบางส่วน เปิดช่องให้มี “วัคซีนทางเลือก” ได้ แต่ก็ยังติดขัดด้วยกฎระเบียบของ “รัฐราชการรวมศูนย์” แม้แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ยังไม่สามารถจัดซื้อวัคซีน เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เงินตนเอง
มีเสียงคัดค้านจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า อบจ.ไม่สามารถทำได้ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรอิสระ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีอำนาจสั่งห้าม อบจ.หรือไม่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายก รัฐมนตรี แนะนำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หารือกับมหาดไทย
เนื่องจากมีระเบียบอนุญาตให้ อปท. (เช่น อบจ. เป็นต้น) ใช้เงินของตน เพื่อการพัฒนา หรือในเรื่องอื่นได้ แต่ไม่ได้ระบุว่าให้จัดซื้อวัคซีนได้ แต่ดูเหมือนว่ากระทรวงมหาดไทย จะไม่รับลูก แต่โยนกลองให้ไปหารือกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการสภาความมั่นคงเป็นใหญ่
การหารือกับ ศบค.โดยตรง น่าจะตรงกว่าและรวดเร็วกว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศอยู่ใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีรวบอำนาจรัฐมนตรีตามกฎหมาย 31 ฉบับ มีอำนาจอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา ป้องกัน ปราบปราม และระงับยับยั้งสารพัด ทำไมนายกรัฐมนตรีจะไม่มีอำนาจสั่งให้ อบจ.ซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชน
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ประเทศไทยยังยึดหลัก “รัฐราชการรวมศูนย์” แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยมาเกือบ 90 ปี แต่ยังมีกฎหรือระเบียบของราชการ ที่แข็งทื่อไม่ยืดหยุ่น หรือเปลี่ยนแปลง แม้ในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติและฉุกเฉิน
...
ทำไมจึงไม่ยอมให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ เช่น เทศบาล หรือ อบต. มีอำนาจจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรค เพื่อฉีดให้ประชาชน ทำไมจึงต้องขอนโยบายหรือคำสั่ง ของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีสาธารณสุข ในขณะที่ไวรัสร้ายกำลังลุกลาม คร่าชีวิตประชาชนอยู่ทั่วประเทศ
หลักการสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น คือการให้ประชาชน “ปกครองตนเอง” ให้ อปท.มีอิสระ และกระจายอำนาจให้ อปท. พึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ไม่ใช่รอคำสั่งข้าราชการ จึงจะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นที่แท้ และเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย.
