- วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 700,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
- กระทรวงการคลังบอกเหตุผลความจำเป็นที่ต้องกู้เงินก้อนใหม่ว่า พิจารณาแหล่งเงินงบประมาณทั้งหมดแล้วพบว่าไม่เพียงพอ แต่ก่อนหน้านั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่ามีงบประมาณเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม
- มีคำถามมากมายกับการกู้เงินครั้งนี้ จำเป็นต้องกู้จริงหรือไม่ งบที่เคยบอกว่ามีเพียงพอหายไปไหน หรือบอกว่างบไม่พอแต่ยังอนุมัติ ‘งบกลาง’ ให้กองทัพ เงินก้อนนี้กู้มาแล้วจะนำไปใช้อย่างไร การใช้เงินจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน จะซ้ำรอยเดิมเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ใช้ไปอย่างไม่สมเหตุสมผลและไม่ค่อยมีประสิทธิภาพหรือไม่
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบวาระ ‘เรื่อง ร่างพระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …’ ซึ่งเสนอโดยอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 เนื้อหาสาระสำคัญคือการกู้เงินเพิ่มอีกในวงเงิน 700,000 ล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และบริหารสภาพคล่องทางการคลัง
การพิจารณาร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ 700,000 ล้านนี้ไม่ถูกเปิดเผยและแถลงต่อสื่อมวลชน เป็นวาระการพิจารณาที่เรียกว่า ‘วาระลับริมแดง’
ยิ่งลับยิ่งทำให้มีคำถามตามมา เช่น ทำไมต้องลับ ทำไมต้องเร่งด่วนถึงขั้นออกเป็น พ.ร.ก. ในเมื่ออีกไม่กี่วันก็จะถึงกำหนดเปิดประชุมสภาฯ สามารถนำเสนอเข้าสู่สภาเพื่อออกเป็น พ.ร.บ. ได้ จำเป็นขนาดไหนที่ต้องกู้ งบส่วนอื่นไม่เหลือแล้วจริงหรือไม่ เงินก้อนนี้จะกู้มาใช้ทำอะไร เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนจริงๆ หรือเพื่อทำคะแนน ฯลฯ
...
มีลับลมคมใน และไม่มีเป้าหมายการใช้ที่ชัดเจน
การกู้เงินก้อนใหม่วงเงิน 700,000 ล้านบาทนี้ จะส่งผลให้สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9,381,428 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 58.56 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งใกล้แตะเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดให้ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
นี่คือเรื่องใหญ่ที่ประชาชนควรได้รับรู้ แต่เนื่องจากสื่อมวลชนยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของ พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับนี้ โอกาสที่ประชาชนจะได้ทราบรายละเอียดจึงน้อยตามไปด้วย ต้องอาศัยข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาจากนักการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาลเป็นหลัก
ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล’ ในช่วงเย็นวันที่ 18 พฤษภาคม ว่า การออก พ.ร.ก.เงินกู้ครั้งนี้น่าเป็นห่วง เพราะโครงสร้างแผนงานและกลไกการอนุมัติโครงการแทบจะเหมือน พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาททุกประการ ดังนั้นคงคาดหวังได้ยากว่ารัฐบาลจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานให้ดีขึ้น
ศิริกัญญาบอกอีกว่า การใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นอกเหนือจากโครงการที่โอนเงินให้ประชาชนแล้ว โครงการอื่นๆ นั้นอนุมัติได้น้อย เบิกจ่ายล่าช้า โครงการไม่มีความสมเหตุสมผล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แผนงานด้านสาธารณสุขที่เบิกจ่ายได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์
ในโพสต์ที่กล่าวถึงนี้ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้แนบลิงก์เอกสาร ร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 700,000 ล้าน ที่เพิ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้ด้วย
พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็แสดงความเห็นว่า รู้สึกประหลาดใจที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 700,000 ล้านที่เป็นวาระจร ไม่มีรายละเอียด ทั้งที่เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และควรชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนทราบก่อน อีกทั้งก่อนหน้านี้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพิ่งยืนยันในช่วงปลายเดือนเมษายนว่ายังมีเงินเหลือ 380,000 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 1 ล้านล้าน ซึ่งเพียงพอที่จะเยียวยาประชาชนโดยไม่ต้องกู้เพิ่ม แต่กลับเสนอ ครม. กู้เพิ่มถึง 700,000 ล้านบาท ทำให้สงสัยถึงความโปร่งใสของเรื่องนี้
เปิดอ่านเอกสารร่าง 9 หน้า พบแผนงาน 3 ข้อ
‘ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....’ มีความยาวทั้งหมด 9 หน้า บอกวัตถุประสงค์ไว้ว่า
“วัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเงินกู้ให้นำไปใช้จ่ายภายใต้แผนงานหรือโครงการ ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่เพื่อการบริหาร สภาพคล่องทางการคลัง”
กรอบการใช้จ่ายเงินมี 3 แผนงาน ได้แก่
1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ ประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อมให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องได้ หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 วงเงิน 270,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน/โครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นการลงทุน และการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อมูลเผยให้เห็นว่า แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบประมาณเพียง 30,000 ล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ ประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งดำเนินการผ่านโครงการแจกเงินต่างๆ ได้รับงบประมาณไปมากที่สุดเป็นวงเงิน 400,000 ล้านบาท
จึงชวนตั้งคำถามต่อไปว่า รัฐบาลทราบหรือไม่ ว่าการเยียวยาด้วยการแจกเงิน กับการพยายามควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดให้ได้ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถทำมาหากินได้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ แบบไหนสำคัญและส่งผลบวกมากกว่ากัน
หากฟังเสียงประชาชนและผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย จะได้ยินว่าพวกเขาต้องการกลับมาทำมาหากิน เปิดร้าน เปิดกิจการ มากกว่าเงินเยียวยาที่ต้องเสี่ยงโชคเสี่ยงด่วง และแม้ได้มาแล้วก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและประคองกิจการ
หรือแท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ของโครงการ ‘เรา…’ ต่างๆ นั้นไม่ได้มุ่งไปที่การเยียวยาประชาชน แต่เป็นการมุ่งหวังคะแนนนิยม อย่างที่คนเขาว่ากัน...
เหตุผลความจำเป็นที่ต้องกู้เงินก้อนใหม่
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพิ่งยืนยันเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ว่า ยังมีงบประมาณจำนวนเกือบ 400,000 ล้านบาท สำหรับบรรเทาผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ โดยเป็นงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน และงบกลาง
“ขอยืนยันว่างบประมาณดูแลประชาชนมีเพียงพอ ไม่ต้องมีการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม”
ผ่านมา 21 วัน กระทรวงการคลังเสนอร่าง พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 700,000 ล้าน แล้วเงินที่ว่ามีพอหายไปไหน หากจำเป็นต้องกู้เพิ่มจริง จำเป็นต้องวงเงินสูงถึง 700,000 ล้านบาทเลยหรือ
เหตุผลข้อหนึ่งที่กระทรวงการคลังยกมาบอกว่าเป็น “เหตุผลความจำเป็นที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี” มีเนื้อหาว่า
“กระทรวงการคลังได้พิจารณาแหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 พบว่ามีข้อจำกัด ดังนี้
“1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ได้เสนอตั้งงบกลางรายการที่ใช้รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย
“1.1. รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ซึ่งได้ตั้งกรอบวงเงินไว้จำนวน 40,325.6 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัคซีน ซึ่งปัจจุบันได้มีการทยอยเบิกจ่ายงบประมาณรายการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงอาจไม่เพียงพอสำหรับการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้
“1.2. รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งได้ตั้งกรอบวงเงินไว้จำนวน 99,000 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติและสาธารณภัยต่างๆ อีกทั้ง เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น เป็นต้น ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ.2564”
และข้ออื่นๆ ที่กล่าวถึงแหล่งเงินงบประมาณต่างๆ สรุปความได้ว่า รัฐไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะนำมาใช้ได้ทันการณ์
ส่วนงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เหลือวงเงินอยู่ 16,525 ล้านบาท ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้
บอกว่าไม่มีงบ แต่อนุมัติให้กองทัพ 387 ล้าน
ขณะที่กระทรวงการคลังบอกว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับบรรเทาผลกระทบในระลอกนี้ แต่ถ้าย้อนไปดู มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ซึ่งก็คือวันเดียวกันกับที่กระทรวงการคลังนำร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
วันนั้นคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณวงเงิน 387,325,102 บาท ให้กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ซึ่งประกอบด้วยแผนดำเนินงาน 3 ส่วน ได้แก่
1. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง จำนวน 206,865,255 บาท สำหรับ 3 หน่วยงาน ดังนี้
- กองทัพบก 188,264,375 บาท
- กองทัพเรือ 10,186,200 บาท
- กองทัพอากาศ 8,414,680 บาท
2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายบริเวณชายแดนด้านทิศตะวันตก จำนวน 79,866,004 บาท สำหรับ 2 หน่วยงาน ดังนี้
- กองทัพบก 69,077,656 บาท
- กองทัพเรือ 10,788,348 บาท
3. ค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม จำนวน 100,593,843 บาท สำหรับ 3 หน่วยงาน ดังนี้
- กองทัพบก 40,758,673 บาท
- กองทัพเรือ 55,804,070 บาท
- กองทัพอากาศ 4,031,100 บาท
งบประมาณที่อนุมัตินี้มาจาก ‘งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ ซึ่งเป็นงบรายการเดียวกันกับที่กระทรวงการคลังกล่าวถึงในร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 700,000 ล้านบาท ว่าได้ทยอยเบิกจ่ายงบประมาณรายการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงอาจไม่เพียงพอสำหรับการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
หากคิดบนสมมติฐานที่ว่า ถ้าวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติงบประมาณจำนวนเกือบ 400 ล้านบาทให้กระทรวงกลาโหม รัฐก็จะมีงบกลางรายการนี้เหลือ 400 ล้านบาท หรือหากตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไปแล้วอนุมัติในวงเงินที่น้อยกว่านั้นสักครึ่งหนึ่ง ก็จะมีงบกลางเหลือราว 200 ล้านบาท
คำถามคือ จำเป็นแค่ไหนที่กองทัพจะได้รับงบประมาณ 387 ล้านบาทนี้ไป โดยเฉพาะแผนงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด ซึ่งน่าจะตัดออกได้คือ ‘ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง’ จำนวนราว 207 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นการดำเนินงานเกี่ยวกับโควิด-19 โดยตรง แต่เป็นเรื่อง ‘ความมั่นคง’
การอนุมัติงบประมาณจำนวนนี้มีส่วนที่ทำให้งบกลางร่อยหรอ หากงบประมาณก้อนนี้ไม่ถูกอนุมัติออกไป เมื่อบวกกับงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 มีวงเงินคงเหลืออยู่ 16,525 ล้านบาท ก็จะมีงบประมาณเหลือให้ใช้แก้ปัญหาในระลอกนี้อย่างน้อยเกือบ 17,000 ล้านบาท
หากเงินกู้ 1 ล้านล้าน ใช้ไม่สมเหตุสมผล ก้อนใหม่จะเดินตามรอยหรือไม่
ในร่างที่กระทรวงการคลังเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รายงานข้อมูลการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทว่า ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการที่เสนอขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 แล้วจำนวน 287 โครงการ กรอบวงเงินกู้ 833,475 ล้านบาท โดยเป็นการช่วยเหลือด้านการแพทย์ และสาธารณสุข การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
ปัจจุบันได้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มต่างๆ ผ่านโครงการเยียวยาเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 42.47 ล้านคน โครงการเราชนะ จำนวน 32.90 ล้านคน โครงการเราไม่ทิ้งกัน จำนวน 15.26 ล้านคน และโครงการเรารักกัน จำนวน 8.1 ล้านคน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยมีผู้รับผลประโยชน์ผ่านการดำเนินโครงการคนละครึ่งจำนวน 14.79 ล้านคน และเราเที่ยวด้วยกันจำนวน 5.77 ล้านคน
และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการจากการระบาดในระลอกเดือนเมษายน 2564 ซึ่งจะต้องใช้เงินอีกประมาณ 150,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินคงเหลืออยู่ 16,525 ล้านบาท
เมื่อดูในรายละเอียดของโครงการจำนวน 287 โครงการที่เบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 (1 ล้านล้านบาท) ไปแล้ว พบว่ามีบางโครงการที่ดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวกับโควิด-19 และสามารถใช้งบประมาณประจำปีของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงได้อยู่แล้ว แต่มีความพยายามขออนุมัติใช้งบประมาณก้อนนี้ และได้รับการอนุมัติตามคำขอ
ตัวอย่างเช่น ‘โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์สวนทุเรียนนนทบุรีอย่างยั่งยืน’ ของกรมส่งเสริมการเกษตร, ‘โครงการพัฒนายกระดับการผลิตผ้าใยกล้วย’ ของจังหวัดปทุมธานี, ‘โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า’ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ‘โครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว’ ของกรมการข้าว และ ‘โครงการพัฒนาการผลิตและใช้โปรตีนจากแมลงเพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์’ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
บางโครงการแจ้งวัตถุประสงค์ว่าเป็นการจ้างงานในชุมชน แล้วได้รับงบประมาณหลายร้อยล้านบาทไปจนถึงเกือบพันล้านบาท เช่น ‘โครงการพัฒนาป่าไม้ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน’ ของกรมป่าไม้ ที่รับงบประมาณไป 863 ล้านบาท ในรายละเอียดประมาณการค่าใช้จ่ายของโครงการแจงว่า ใช้งบประมาณสำหรับจ้างแรงงานในชุมชนประมาณ 438 ล้านบาท นอกจากนั้นเป็นค่าวัสดุ ค่าเพาะชำกล้าไม้ ค่าเรือนเพาะชำ ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ฯลฯ
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงและจำเป็นต้องได้รับงบประมาณมากที่สุดหน่วยงานหนึ่งในสถานการณ์แบบนี้ได้รับจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านไป 25,825 ล้านบาท
ในร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 700,000 ล้านบาทนี้ก็คล้ายกัน แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นแผนงานที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด วงเงิน 30,000 ล้านบาท
ยังคงเป็นคำถามที่ต้องจับตามองและตรวจสอบกันต่อไปว่า การใช้เงินกู้ก้อนใหม่นี้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และถูกใช้อย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น หรือยังเดินตามรอยเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท.