- จริงหรือไม่ ! "walk in" ฉีดวัคซีนโควิด-19 หลาย รพ.ขยาด เหตุ บริหารจัดการยาก
- ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว พลาดเอาไปติดคนในครอบครัว ที่ยังไม่ได้ฉีด อาการจะรุนแรงหรือไม่?
- ยืนยัน นโยบายรัฐบาล ระบบ “walk in” จะช่วยได้มาก ก็ต่อเมื่อมีวัคซีนมากเพียงพอ
แน่นอนว่า "ทอล์กออฟเดอะทาวน์" ช่วงนี้ ไม่มีเรื่องไหนที่น่าสนใจ น่าหวั่นวิตก เท่ากับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ นี้ ดูหนักหนาสาหัส มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยยอดตัวเลข คนติดเชื้อสะสม ทะลุ 1 แสนราย และยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันแบบยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง

ขณะปมที่น่าสนใจ นอกจากการปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด(สีแดงเข้ม) และเข้มงวดเหลือ 4 จังหวัด และอนุญาตให้นั่งทานอาหารในร้านอาหารได้ไม่เกิน 25% มีผลวันนี้ (17 พ.ค.) แล้ว กรณี รัฐบาลจ่อเปิดให้ "walk in" ฉีดวัคซีนโควิด-19 เริ่ม มิ.ย.นี้ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
...

"walk in" ฉีดวัคซีนโควิด-19 หลาย รพ. ขยาด เหตุบริหารจัดการยาก จริงหรือ?
ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง นายแพทย์โสภณ เมฆธน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ระบบ walk in ที่คิดขึ้นมานี้ ก็เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงระบบฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นก็ต้องรอดูก่อนว่าจะเป็นเช่นไร ทั้งนี้ การที่ประชาชนจองการฉีดวัคซีนจาก "หมอพร้อม" เพื่อได้ทราบวันที่จะได้ฉีดวัคซีนที่แน่นอน น่าจะเป็นการดีกว่า

ชี้ชัด walk in ตามนโยบายรัฐบาล จะช่วยได้มาก ก็ต่อเมื่อมีวัคซีนมากเพียงพอ
"ขณะระบบ walk in ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล อีก 1 ทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงวัคซีนจะช่วยได้มากก็ต่อเมื่อ จำนวนวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชนมีปริมาณมากอย่างเพียงพอ แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลขอยืนยันให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่า ตามแผนจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน จำนวน 70% ของประชากรทั้งประเทศ ภายในปลายปี 2564 ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงไม่อยากให้พี่น้องประชาชนตื่นตระหนกจนเกินไป กรณีข่าวในโซเชียลฯ ที่มีการระบุว่า มีหลาย รพ. อาจตัดสินใจไม่ดำเนินการฉีดวัคซีนแบบ walk in เนื่องจากเกรงว่า จะบริหารจัดการได้ยาก" นายแพทย์โสภณ กล่าว...

คนที่ฉีดวัคซีนกันโควิด-19 แล้ว หากพลาดเอาไปติดคนในครอบครัว ที่ยังไม่ได้ฉีด อาการจะรุนแรงหรือไม่?
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าหากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงหรือไม่ อันนี้ไม่เกี่ยวกัน แต่มีผลการศึกษายืนยันว่า ถ้าคนที่ฉีดวัคซีนกันโควิด-19 แล้ว โอกาสที่จะนำเชื้อโควิด-19 ไปติดคนที่บ้านจะลดลงไปถึง 50% อันนี้เป็นผลการศึกษายืนยันของวัคซีน "แอสตราเซเนกา"

ขณะที่ก่อนหน้า นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึง สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แบบวันต่อวัน การบริหารจัดการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์ จากแผนหลัก กำหนดฉีดวัคซีนโควิด-19 เดือนมิถุนายน 2564 แต่เนื่องจากมีการระบาด จึงเปลี่ยนให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในกทม.
โดยแผนใหม่ ลงทะเบียนมี 3 ช่องทาง คือ 1. “หมอพร้อม” จะรู้ว่าได้ฉีดวัคซีนวันไหน มีความสะดวกมากขึ้น ไม่แออัด ได้รับบริการตามระบบ 2. ช่องทางรองรับผู้ที่ไม่สะดวกใช้เทคโนโลยี “หมอพร้อม” โรงพยาบาล -อสม. สำรวจและจดรายชื่อผู้ที่เข้าเกณฑ์ได้รับวัคซีน ซึ่งโรงพยาบาลมีข้อมูลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และทางเลือกที่ 3 คือ walk in ซึ่งมีคนสนใจจำนวนมาก และจะเริ่มจริงจังในเดือนมิ.ย.นี้ เป็นช่องทางที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกทม.

ส่วนในต่างจังหวัด การบริหารจัดการวัคซีนขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนกลางจะส่งวัคซีนตามยอดที่จะฉีดร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร ให้จังหวัดไปจัดบริการ 3 กลุ่ม คือ หมอพร้อม, อสม. รพ.กำหนดมา และกลุ่ม walk in ในจังหวัดที่มีความพร้อม โดยกำหนดจุดฉีดวัคซีนที่ประชาชนเข้าถึงสะดวก และจำนวนที่จะให้บริการ walk in ได้ หากคิวเต็มจะให้บัตรนัดมารับการฉีดในวันที่สะดวก เป็นการจองคิวหน้างาน ทั้งนี้ประชาชนสอบถามจุดบริการฉีดวัคซีนได้ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด คาดว่าจะทยอยประกาศจุดบริการของแต่ละจังหวัดในสัปดาห์หน้า

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ย้ำว่าการฉีดวัคซีนแบบเป็นทางการจะเริ่มมิถุนายน 2564 ปลายพฤษภาคม เป็นช่วงการซ้อมทดสอบระบบ ขณะนี้เป็นช่วงการสำรวจข้อมูลของทุกจังหวัดและ กทม. ทั้งจุดที่จะเปิดบริการ วันเวลา จำนวนการให้บริการ เพื่อจัดส่งวัคซีน กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเปิดบริการ walk in ที่สถานีกลางบางซื่อ ในเดือนมิถุนายน และจะประกาศจำนวนที่จะฉีด โดยคาดว่าเปิดบริการเวลา 12.00 – 20.00 น. ตามที่
ส่วนการฉีดให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะนี้ได้เจรจากับบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งสามารถฉีดให้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป การเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี จะสามารถส่งมอบได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และเมื่อได้รับวัคซีนมาแล้วก็จะทยอยฉีดให้กับประชาชนอายุตั้งแต่ 12-18 ปี ต่อไป สำหรับหญิงตั้งครรภ์ขณะนี้ยังไม่กำหนดให้ฉีด
ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ขับรถสาธารณะ แท็กซี่ คนขับรถตู้ ทำงานในสนามบิน จะจองได้ทั้งทาง "หมอพร้อม" คาดว่า "หมอพร้อม" จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองนัดฉีดวัคซีนได้ปลายเดือนพฤษภาคม 2564 และนัดแบบเฉพาะเจาะจงเป็นกลุ่ม เช่น สมาคมแท็กซี่ สมาคมมัคคุเทศก์ ชมรมร้านอาหาร ยื่นความจำนงไปที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กทม. รวมทั้งการ walk in

- ตรวจสอบสถานพยาบาลหรือบริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล
ประชาชนที่ต้องการเข้ารับวัคซีนให้ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลหรือบริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาลทั้ง 25 แห่ง (ตรวจสอบจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล) หรือโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการ 126 แห่ง (ตรวจสอบโรงพยาบาลเปิดฉีดวัคซีน)
เตรียมหลักฐาน
เตรียมบัตรประชาชนหรือบัตรที่ราชการออกให้ หรือหนังสือเดินทาง
-แจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีน
ประชาชนแจ้งความประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาล (กรณีที่คิวเต็มเจ้าหน้าที่จะลงทะเบียนและนัดหมายการฉีดวัคซีนในวันถัดไป)
ปรึกษาแพทย์
ผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเป็นประจำเพื่อพิจารณาก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

ต้องรอชม "รัฐบาลบิ๊กตู่" จะทำได้ตามแผนงานที่ประกาศไว้หรือไม่ หากทำได้ตามที่พูดสถานการณ์การเมืองของรัฐบาลก็อาจจะเบาบางลง แต่ถ้าทำไม่ได้ โควิด-19 ยังระบาดต่อ แบบไม่มีท่าทีว่าจะลดลง

งานนี้ คงไม่ต้องบอกว่า "รัฐนาวาบิ๊กตู่" จะต้องเจอกับมรสุมใหญ่ อะไรบ้าง เรียกว่า "ดูไม่จืด" หรือถ้าให้แรงกว่านั้น อาจ "จบไม่สวย" ก็แล้วกัน
ผู้เขียน: เดชจิวยี่
กราฟิก:Varanya Phae-araya