- วันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ระบุตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ จำนวน 2,835 ราย ตัวเลขดังกล่าวทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามถึงการทำงาน การวางแผนและวางมาตรการจัดการกับไวรัส
- จากคำบอกเล่าของจำเลยหลายคนที่เคยอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอาจยังไม่ครอบคลุม เนื่องจากเรือนจำมีพื้นที่จำกัดแต่มีคนแออัดจำนวนมาก ประกอบกับการย้ายแดนนักโทษไปมา อาจทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาต้นตอการระบาดที่แน่ชัดได้
- วันที่ 13 พฤษภาคม สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงข่าวกรณีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ ก่อนยืนยันว่าไม่เคยมีการปิดข่าวแต่อย่างใด
วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงถึง 4,887 ราย จำนวน 2,835 ราย เป็นผู้ป่วยในเรือนจำที่กรมราชทัณฑ์ออกมาเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ตัวเลขเพียงวันเดียวที่พุ่งเกือบถึง 3,000 คน ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง เกิดการตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในเรือนจำ และทางกรมราชทัณฑ์มีมาตรการจัดการกับการระบาดของเชื้อไวรัสในเรือนจำแบบไหนบ้าง
แถลงการณ์จากราชทัณฑ์เรื่องโควิด-19
วันที่ 12 พฤษภาคม กรมราชทัณฑ์ระบุถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ ณ ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่พยายามอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดด้วยมาตรการเชิงรุก ประกอบกับมาตรการที่เคร่งครัด อาทิ การควบคุมบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า การแยกตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่อย่างน้อย 21 วัน โดยระหว่างนี้จะมีการตรวจหาเชื้อไวรัสถึง 2 ครั้ง ก่อนพ้นระยะกักโรค หากพบผู้ต้องขังติดเชื้อ จะส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามเรือนจำ และโรงพยาบาลแม่ข่าย ตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้
การตรวจเชิงรุกทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ทำให้พบผู้ติดเชื้อในทัณฑสถานหญิงกลาง 1,040 ราย และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1,795 ราย รวมแล้ว 2,835 ราย ทั้งหมดอยู่ในช่วงรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กรณีมีผู้ป่วยอาการหนักจะถูกย้ายไปยังโรงพยาบาลภายนอก
...
คำบอกเล่าของผู้เคยอยู่ในเรือนจำ
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ระหว่างรอกักตัว 14 วัน และออกจากเรือนจำมาได้ 10 วัน เคยเล่าถึงประสบการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดระหว่างอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผ่านกิจกรรมเสวนาของเพจ People Go network ในหัวข้อ ‘ชีวิตในเรือนจำของผู้ต้องขังทางการเมือง และสภาพของเพนกวินกับการอดอาหาร’ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ไผ่แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลจัดการกับปัญหาโควิด-19 ได้ในระดับที่ไม่ดีนัก ขณะนั้นเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดหนักในเรือนจำ เนื่องจากพื้นที่จำกัด บวกกับจำนวนคนที่แออัด ส่งผลให้การระบาดรวดเร็วมาก ประกอบกับการย้ายแดน ทำให้ไม่สามารถหาที่มาได้ชัดเจนว่าเชื้อเข้ามาจากไหน หรือติดมากับใครบ้าง
“ในเรือนจำจะมีทั้งหมด 8 แดน แดนที่ 1 จะเป็นแดนกักโรค คนที่เข้ามาใหม่จะถูกจำแนกกักตัวอยู่ในห้อง 14 วัน ระหว่างอยู่ที่แดนกักโรค ในวัน 2 วันจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจโควิด-19 แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้กักตัวครบ 14 วัน บางคนอาจได้กักน้อยกว่า บางคนอาจกักเกิน 14 วัน เพราะถ้าช่วงที่มีคนเข้ามาเยอะ ทำให้ห้องไม่พอ ไม่ทำได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์”
นอกจากนี้ ไผ่ยังมองว่ามาตรการรับมือกับไวรัสไม่ได้ออกแบบมาสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กที่มีคนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก คนนอนติดกัน อาบน้ำร่วมกัน ทำอะไรหลายอย่างร่วมกัน ตรงนี้ยังเป็นปัญหาที่ทำให้การระบาดลุกลามไวมาก บางช่วงบางตอนในห้องห้องเดียว อาจต้องนอนรวมกันถึง 28 คน ถ้ามีคนหนึ่งติดเชื้อมาแล้ว อาจทำให้คนทั้งหมดติดเชื้อหมดได้
วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยมีใจความสำคัญว่า เธออยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางจนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม หลังออกจากเรือนจำได้ไปตรวจร่างกายและทราบว่าติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้กำลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์
รุ้งทิ้งท้ายว่า ตัวเองตรวจโควิด-19 ครั้งล่าสุดวันที่ 22 เมษายน และไม่มีอาการใดๆ ที่บ่งบอกว่ามีอาการติดโควิด จนวันที่ออกจากเรือนจำ พยายามขอตรวจหาเชื้อ แต่ทางโรงพยาบาลไม่ได้ตรวจให้ เนื่องจากไม่มีอาการและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง
“โดยครั้งล่าสุดที่ตรวจโควิดจากในเรือนจำคือวันที่ 22 เมษายน และวันที่ 5 พฤษภาคม วันก่อนที่จะปล่อยออกมา ทราบว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางแล้วมากกว่า 50 คน หนูคาดว่าตอนนี้ทั้งในทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำอื่นคงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมหาศาล ขอให้ทางภาครัฐและกรมราชทัณฑ์ออกมาชี้แจงและเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำอย่างตรงไปตรงมา”
สมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์วันที่ 13 พฤษภาคม ถึงสิ่งที่ตนพบเห็นเมื่อครั้งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดกรมราชทัณฑ์ถึงเพิ่งแถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่เริ่มระบาดหนักตั้งแต่ช่วงเมษายน
“ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเบื้องต้นคือการปกปิดข้อมูล ผมถูกขังในเรือนจำทั้งหมด 73 วัน แล้วได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 23 เมษายน ระหว่างถูกขังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากภายนอกที่เกี่ยวกับโควิด-19 เลย ได้เห็นอยู่บ้างในรายการของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา จากรายการ ‘เรื่องเล่าชาวเรือนจำ’ ที่เล่าภายในเรือนจำ แต่เราจะไม่มีความรู้เลยว่าตอนนี้โควิด-19 มีกี่สายพันธุ์ แสดงอาการหรือไม่
“ตอนที่ไปรับแอมมี่กับเพนกวินหน้าเรือนจำ แวะดูที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ใกล้ๆ ไปเกาะที่รั้วประตู อยู่ๆ มีเจ้าหน้าที่บอกว่าให้รีบล้างมือหรือใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ ในโรงพยาบาลมีผู้ป่วยหลักพันคน ผมรู้สึกแปลกใจว่าในโรงพยาบาลไม่น่าจะมีถึงหลักพัน เพราะมีเตียงแค่ 200 เตียงเท่านั้น แล้วปกตินักโทษที่ป่วยทั่วไปก็มีกว่า 200 คน ต้องเริ่มสงสัยแล้วว่าถ้ามีตัวเลขหลักพัน แสดงว่าที่ผ่านมามีการปกปิดข้อมูลหรือไม่
“ผมเคยบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแจ้งข้อมูลให้ชัดเจนว่าตกลงมีคนติดเชื้อเท่าไร” สมยศเน้นถึงการตรวจสอบหาความจริง
“พอบ่ายวันที่ 12 พฤษภาคม ราชทัณฑ์ถึงแถลงตัวเลขมาเกือบ 3,000 คน จาก 2 เรือนจำ คือ ทัณฑสถานหญิงกลางที่รุ้งติด กับ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถ้าไม่มีนักโทษจำนวนหนึ่งติดคุกแล้วติดโควิด-19 คนภายนอกและสาธารณชนจะไม่รับรู้รับทราบเลยว่ามีเชื้อโควิด-19 เป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่อยู่ในเรือนจำ จนกระทั่งรุ้งบอกว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว”
เมื่อถามสมยศว่าในเรือนจำมีการตรวจโควิด-19 หรือไม่ สมยศตอบว่ามีการตรวจ แต่เขามองว่าไม่มีทางจะตรวจได้ครบทุกคน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ส่วนงานนี้อยู่เพียงไม่กี่คน ตอนที่เขาอยู่ในเรือนจำ เขาเห็นเพียงแค่ 3-4 คนเท่านั้น กับปริมาณผู้ต้องขังที่มี 4,000-5,000 คน นอกจากนี้ระหว่างอยู่ในเรือนจำ ไม่มีการแจกหน้ากากอนามัย หรือการบังคับให้ใส่ ผู้ต้องขังที่ไม่มีเงิน ไม่มีญาติ ก็ไม่ได้ใส่หน้ากาก
สมยศมองว่ากรณีการติดโควิด-19 ในเรือนจำเกือบ 3,000 คน ไม่ใช่เรื่องปกติ อาจเป็นการปกปิด หรือการทำงานที่บกพร่องก็ตามที และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทำการสอบสวนว่าเพราะเหตุใดถึงมีการระบาดหนัก
“ผมคิดว่ารัฐต้องรับผิดชอบต่อชะตากรรมเหล่านี้ จริงๆ แล้วปัญหาไม่ได้เกิดจากคนที่ติดเชื้อ แต่เกิดจากความบกพร่องของรัฐ ตั้งแต่ช่วงแรกที่จัดการเรื่องหน้ากากอนามัยไม่ได้ เกิดการเพิ่มราคาเอากำไรจากการขายหน้ากากอนามัย ไหนจะการนำวัคซีนเข้ามาล่าช้ากว่าเพื่อน เราอยู่ในอันดับ 6 ของอาเซียน ประชาชนต้องแบกรับปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของรัฐบาล”
แถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.00 น. สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงข่าวกรณีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีใจความสำคัญดังนี้
“โดยแนวทางของรัฐบาล และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำชับอยู่ตลอดเวลาว่าให้ผมหมั่นดูแลเอาใจใส่ เพราะหากมีผู้ต้องขังติดโควิด-19 จะลุกลาม ประสานงานกับผม ให้ดูแลอย่างดีที่สุด หากสาธารณสุขประสานงานให้ไม่ครบถ้วน กรมราชทัณฑ์ก็เตรียมเรื่องของเงินทองไปซื้อยาฟาวิพิราเวียร์โดยตรง เพื่อทำให้ญาติของผู้ต้องขังสบายใจ ในส่วนหนึ่งแพทย์แผนไทย ได้เสนอแนะแนวทางกรณีผู้ต้องขังแสดงอาการไม่รุนแรง ให้นึกถึงฟ้าทะลายโจร ซึ่งเราก็ดำเนินการครบถ้วน
“จึงขออนุญาตแถลงให้สื่อมวลชนทราบว่า เราเตรียมพร้อมตั้งแต่ต้นโดยตลอด แต่วิกฤติโรคภัยไข้เจ็บดังกล่าว ต้องเรียนว่ามีส่วนอื่นทั้งหลายที่ต้องประกอบให้สมบูรณ์ เพราะเรามองเชื้อโรคไม่เห็น ถึงแม้จะกักกันดูแลอย่างดียิ่ง
“ท่านอาจจะถามว่าวิธีการดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังออกไปข้างนอกเรือนจำ ไปศาลบ้าง ไปฟังคำไต่สวนบ้าง ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมประสานงานกับศาลในแต่ละจังหวัดโดยตรง เชื่อมั่นว่าปัญหาต่างๆ จะคลี่คลาย เพราะศาลเข้าใจประเด็นปัญหาเรื่องของการนำนักโทษออกมา ไม่สมควรที่จะออกมา”
เมื่อสื่อมวลชนถามว่า เกิดการปิดข่าวจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำหรือไม่ รัฐมนตรียุติธรรม ยืนยันว่าไม่มีการปิดข่าวแน่นอน ก่อนให้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ตอบคำถามดังกล่าวเพิ่มเติม
“ในเรื่องดังกล่าวไม่ได้มีการปิดบัง การตรวจหาโควิด-19 ด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศูนย์ตรวจชีวโมเลกุล ทุกครั้งที่มีการตรวจและยืนยันครั้งที่สองแล้ว เราต้องคีย์ระบบเลข 13 หลัก ไปยัง ICN-TRACKING เป็นข้อมูลระดับชาติที่จะรับรู้ว่าใครติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ
“แต่เนื่องจากข้อจำกัดของศูนย์ชีวโมเลกุลที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตรวจได้เพียงวันละ 300 ราย ดังนั้นตั้งแต่ต้นเดือนถึงปลายเดือนเมษายน จำนวนที่ค้นพบจึงเป็นจำนวนเพียงหลักสิบหลักร้อย และเราได้ดำเนินการสอบสวนโรคตลอดเวลา จนในที่สุดเห็นว่าศักยภาพของศูนย์ชีวโมเลกุล น่าจะไม่ทันรองรับผู้ต้องขังสองเรือนจำ จำนวนเกือบ 8,000 คน แต่เราต้องการรู้ผลอย่างรวดเร็วตั้งแต่วันที่ 7-11 พฤษภาคม จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ส่งรถพระราชทานความเร็วสูง วิเคราะห์ PCR มาประจำอยู่ที่หน้าทัณฑสถาน เพราะฉะนั้นในช่วง 3 วันที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงที่มีการรายงานผลตัวเลขในหลักพัน เพราะได้รับการสนับสนุนจากรถพระราชทานคันนี้
“ทำให้เกิดการเปิดเผยตัวเลขวันนี้หลังคีย์เข้าระบบ ICN-TRACKING แล้ว ยืนยันว่ากรมราชทัณฑ์ดำเนินการตามหลักการของประเทศ ค้นหาเคส รวมถึงกรณีพิเศษอย่างการค้นหา 100 เปอร์เซ็นต์ ที่อาจจะแตกต่างจากข้างนอกโดยสิ้นเชิง เพราะเรือนจำเป็นสังคมปิด เราให้ความสำคัญตามหลักสิทธิทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชน ตรวจหมดทุกคน เพื่อแยกคนติดเชื้อออกจากคนไม่ติดเชื้อจำนวนมากเพิ่งออกมาได้ 2-3 วันนี้เอง จากการมีรถพระราชทานมาร่วมวิเคราะห์ ข้อมูลจึงเพิ่งออกมาในปัจจุบัน”
ในเรื่องการนำนักโทษออกนอกเรือนจำ เพื่อฟังคำพิพากษาหรือฟังคำไต่สวน เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ระบุว่า ได้ประสานงานกับศาลอาญาแล้ว และมีความเห็นตรงกันว่าสองเรือนจำหลักในกรุงเทพฯ มีการรับนักโทษใหม่ท่ามกลางการระบาดของไวรัส จึงทำให้ต้องใช้ระบบคอนเฟอเรนซ์ไปก่อน อย่างไรก็ตาม หากการนำผู้ต้องขังออกมายังจุดคอนเฟอเรนซ์เป็นไปได้ยาก หรือทำให้มีความเสี่ยงสูง ศาลอาจเล็งเห็นว่าควรเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อนได้
นอกจากนี้ วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ชี้แจงประเด็น รุ้ง-ปนัสยา ติดโควิด-19 ว่า “กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจหาเชื้อเชิงรุกในผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงกลางแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งปนัสยา ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน โดยผลตรวจออกมาเป็นลบ และยังได้กักตัวปนัสยาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน - 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งปนัสยาไม่ได้ออกไปภายนอกเรือนจำหรือทำกิจกรรมใดๆ จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา อีกทั้งในวันที่ 8 พฤษภาคม กรมราชทัณฑ์ยังได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุกอีกครั้งในแดนที่ปนัสยากักตัวอยู่ ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ต้องขังคนใดที่อยู่ร่วมกับปนัสยาติดเชื้อโควิด-19”
ส่วนกรณีของ ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ‘ไมค์ ระยอง’ แกนนำกลุ่มคณะราษฎรที่ยังคงอยู่ในเรือนจำ ติดเชื้อโควิด-19 และถูกส่งตัวเข้ารักการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว
ในเวลานี้ การติดเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำ นับเป็นอีกหนึ่งการแพร่ระบาดใหญ่ในประเทศไทยที่จะต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด ว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร วัคซีนจะเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ และการแจกจ่ายวัคซีนจะดำเนินไปด้วยระยะเวลาที่ช้าหรือเร็วแค่ไหน.