คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาล ที่เกี่ยวกับประเด็นการเมือง ย่อมมี ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นปกติ ชัดเจนที่สุดคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตรฯ ตามที่ 51 ส.ส. ยื่นคำร้อง
คำร้องกล่าวหาว่า ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้ต้องห้ามมิให้สมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) เพราะเคยต้องคำพิพากษา กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด และเคยถูกจำคุกในออสเตรเลีย จึงต้องพ้นจากความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี แต่ศาลวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องไม่ได้ถูกพิพากษากระทำผิด ตามคำพิพากษาศาลไทย แต่เป็นศาลต่างประเทศ
คำวินิจฉัยของศาลอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เป็นอำนาจที่เด็ดขาด สมบูรณ์ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐอื่น ไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตน การตีความให้คำพิพากษาศาลต่างประเทศ มีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลไทย ไม่สอดคล้องหลักอธิปไตยรัฐ
ฝ่ายการเมืองที่ออกมาแสดงความเห็นในทันที ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่าผิดหวังกับคำวินิจฉัยของศาลเป็นอย่างยิ่ง เพราะขัดต่อแนวทางปฏิบัติและแนวทางกฎหมาย ที่มีมาตั้งแต่ปี 2525 คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยกรณีบุคคลต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และพ้นโทษยังไม่ถึง 5 ปี
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า กฎหมายไม่ได้ระบุว่าถูกจำคุก โดยคำพิพากษาศาลประเทศใด จึงมีมติให้ตัดสิทธิบุคคลนั้นไม่ให้สมัคร ส.ส.ไม่ว่า จะต้องคำพิพากษาของศาลไทยหรือศาลต่างประเทศ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นความเห็นของกฤษฎีกา เพราะขณะนั้นยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ
...
เลขาธิการพรรคก้าวไกลประกาศว่า พรรคจะไม่หยุดการตรวจสอบเพียงแค่นี้ แต่จะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกาตรวจสอบต่อไป เพราะเป็น การฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง และเปิดเผยว่าในระหว่างการไต่สวน ร.อ.ธรรมนัสยอมรับ ว่าถูกพิพากษาจำคุกจริง แต่ปฏิเสธในสภา
ผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2560 อ้างว่าเป็น “ฉบับปราบโกง” บทบัญญัติปราบโกงที่สำคัญได้แก่ ม.98 เป็นด่านแรกที่สกัดกั้น “ผู้ต้องห้าม” เข้าสู่อำนาจการเมือง เช่น เคยถูกพิพากษาทุจริตต่อหน้าที่ เคยถูกไล่ออกจากราชการ เคยถูกยึดทรัพย์ เพราะร่ำรวยผิดปกติ แต่ต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจึงจะปราบคนขี้โกงได้.