ไม่ทราบว่ารัฐมนตรีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จงใจพูดถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นใครกันแน่ แม้แต่วงการนักข่าวก็ไม่กล้าเดา การประชุม ครม.วันนั้นเริ่มต้นด้วยเรื่องเบาๆ นายกรัฐมนตรีเล่าให้ ครม.ฟังว่า โดนตำรวจปรับ 6 พันบาท ฐานไม่สวมหน้ากากอนามัย ลงท้ายด้วยเรื่องเครียด ถูก รมต.นินทาลับหลัง

นายกรัฐมนตรีเล่าด้วยเสียงที่เอาจริง “มีรัฐมนตรีบางคนพูดไม่ดี นินทาผมในที่ประชุมบางวง ให้ระวังตัวไว้...ถ้าผมได้ยินอีกจำเป็นต้องปลดออก” และริบโควตารัฐมนตรีพรรคด้วย หนังสือพิมพ์บางฉบับพาดหัวข่าวว่านายกฯ “ขู่เขี่ยทิ้ง” รัฐมนตรี นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งของความระหองระแหงในพรรคร่วมรัฐบาล

ยังมีความระหองระแหงทั้งเล็กและใหญ่อีกหลายเรื่อง ต้องถือเป็นเรื่องปกติของรัฐบาลผสมหลายพรรค หรือแม้แต่ในพรรคเดียวกันก็ยังขัดแย้ง อีกตัวอย่างหนึ่งคือการที่นายกรัฐมนตรีไม่ผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่เป็นนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่การแต่งตั้งรัฐมนตรีให้ไปดูแลระดับจังหวัด

เคยมีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายค้านบางคน ให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากรัฐบาล แต่ไม่มีพรรคใดสนใจ บางพรรคอ้างว่าแม้ทำงานด้วยกันมา 2 ปี ไม่มีความขัดแย้ง มีแต่ความราบรื่น บางพรรคอ้างว่าแม้รัฐบาลจะไม่สนใจนโยบายของพรรค แต่พรรคก็ตั้งร่วมรัฐบาลต่อ เพราะมีภารกิจอื่นๆที่จะต้องทำ

ในอดีตหรือแม้แต่ปัจจุบัน พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ถือคติ “ต้องเป็นรัฐบาล” ให้ได้ แม้จะไม่ชนะเลือกตั้งท่วมท้น จนตั้งรัฐบาลด้วยตนเองได้ แต่ขอให้ได้ร่วมรัฐบาลผสมหลายพรรคก็ยังดี ขอแต่เพียงให้มีเอี่ยวเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะถ้าเป็นฝ่ายค้านจะ “อดอยากปากแห้ง” แสดงว่าถ้าเป็นรัฐบาล “จะปากมัน” ใช่หรือไม่

...

เป็นรัฐมนตรีมีทั้งอำนาจบารมี ที่จะจัดทำโครงการพัฒนา หรือฟื้นฟูเศรษฐกิจในเขตเลือกตั้งใช้หาเสียงได้ สร้างความนิยมในหมู่ประชาชนได้ แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้าน อย่างดีสุดก็ได้แค่พูด หรือโจมตีรัฐบาลด้วยถ้อยคำที่เผ็ดร้อน แต่ไม่สามารถสร้างประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมให้ประชาชนและประเทศชาติ ขอเป็นรัฐบาลดีกว่า

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยมาเกือบจะครบร้อยปีอยู่รอมร่อ แต่การเมืองไทยไม่ยอมพัฒนา อาจยังมีนักการเมืองบางส่วนคิดใช้อำนาจหน้าที่เพื่อแสวงผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อสะสมทุนเพื่อการเลือกตั้งคราวหน้า การเลือกตั้งยังไม่เป็นไปด้วยความสุจริต และเที่ยงธรรม ระบอบอนาธิปไตยยังเฟื่องฟู.